ผู้เขียน หัวข้อ: มิลินทปัญหา  (อ่าน 107315 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 8 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #310 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 10:37:16 am »

   ตลาดดอกไม้

   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ตลาดดอกไม้ ได้แก่อะไร "
   " ขอถวายพระพร ตลาดดอกไม้ ได้แก่อนิจขสัญญา อนัตตสัญญา อสุภสัญญา อาทีนวสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา อัฏฐิกสัญญา ปุฬุวกสัญญา วินีลกสัญญา วิจฉิททสัญญา วิปุพพกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา วิกขายิตกสัญญา หตวิกขิตตกสัญญา โลหิตกสัญญา อานาปานสติ มรณสติ กายคตาสติ

   เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงการจำแนกอารมณ์เหล่านี้ไว้แล้ว ผู้อยากพ้นจากชรา มรณะ ก็ถือเอาอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ในอารมณ์เหล่านี้ แล้วก็จะพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ข้ามสงสารไปได้ กั้นกระแสตัณหาได้ ตัดความสงสัยได้ ฆ่ากิเลสทั้งปวงได้ แล้วเข้าไปสู่พระนครคือ นิพพาน อันไม่มัวหมอง ไม่มีธุลี เป็นของบริสุทธิ์ เป็นของขาว เป็นของไม่รู้เกิด ไม่รู้แก่ ไม่รู้ตาย เป็นสุขเป็นเมื่อเย็น เป็นเมืองไม่มีภัย เป็นเมืองอันสูงสุด

   เป็นอันว่า บุคคลถือเอาทรัพย์อันเป็นมูลค่าเข้าไปสู่ตลาด ซื้อเอาดอกไม้ คือารมณ์เหล่านั้นแล้วก็พ้นจากทุกข์ ขอถวายพระพร "

   " สมควรแท้ พระนาคเสน "
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 12, 2011, 10:44:45 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #311 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 10:46:09 am »

   ตลาดของหอม

   " ข้าแต่พระนาคเสน แล้วก็ ตลาดของหอม ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่สิ่งใด ? "
   " ขอถวายพระพร ได้แก่ ศีล คือพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกศีล อันมีกลิ่นหอมไปทั่วทิศทั้งปวงไว้เป็นหลายประเภท มีพระไตรสรณคมน์เป็นเบื้องต้น และศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลอันนับเข้าในอุเทส ๕ ศีลอันนับเข้าในพระปาฏิโมกข์ อันนี้แหละเป็นตลาดของหอมของพระพุทธเจ้า ข้อนี้สมกับที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัสไว้ว่า

   " กลิ่นดอกไม้ กลิ่นจันทร์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกมะลิ ย่อมทวนลมไปไม่ได้ ส่วนกลิ่นของสัปปุรุษทั้งหลาย ย่อมหอมทวนลมไปได้ สัปปุรุษย่อมมีกลิ่นหอมไปตลอดทิศทั้งปวง กลิ่นศีล เยี่ยมกว่ากลิ่นจันทน์ กลิ่นกฤษณา กลิ่นดอกอุบล เพราะกลิ่นของหอมเหล่านี้มีประมาณเล็กน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลาย ย่อมหอมฟุ้งขึ้นไปถึงเทวโลก " ดังนี้ ขอถวายพระพร "

   " ชอบแล้ว พระนาคเสน "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #312 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 10:55:58 am »

   ตลาดผลไม้

   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดผลไม้ ของพระพุทธเจ้าได้แก่อะไร ? "

   " ขอถวายพระพร ได้แก่ โลกุตตรผล ที่สูงขึ้นไปกว่ากันเป็นชั้น ๆ คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามีผล อนาคามีผล อรหัตตผล สุญญตผลสมาบัติ อนิมิตตผลสมาบัติ อุเบกขาผลสมาบัติ ผู้ใดต้องการผลใด ๆ ถือเอามูลค่าแล้วก็ซื้อเอาผลนั้น ๆ ได้ตามต้องการ เหมือนกับผู้ต้องการผลมะม่วงชนิดใด ๆ ก็ซื้อเอาผลอันไม่รู้จักตายของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นสุขตลอดไป ขอถวายพระพร "

   " ข้อนี้ก็ชอบแล้ว พระนาคเสน "


   ตลาดยาแก้พิษงู

   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดยาแก้พิษงู ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? "

   " ขอถวายพระพรได้แก่ อริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพราะผู้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง มีความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น เป็นอันว่าบุคคลเหล่าใดถูกพิษงูแล้ว ดื่มยาแก้พิษงูของพระพุทธเจ้าคือพระธรรม บุคคลเหล่านั้นก็สิ้นพิษงู ขอถวายพระพร "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #313 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 11:01:33 am »

   ตลาดยาแก้เจ็บไข้ทั่วไป

   " ข้อนี้ก็ชอบแล้ว พระนาคเสน "
   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดยาแก้เจ็บไข้ทั่วไป ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? "

   " ขอถวายพระพร ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ยาอื่นที่มีดาษดื่นอยู่ในโลกเสมอด้วยยาคือพระธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มี พระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งตลาดยาไว้อย่างนี้แล้ว ผู้ที่ได้ดื่มยาของพระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นสุข มหาบพิตร เคยได้สดับหรือไม่ว่า มีผู้ทูลถามตามลัทธิของตน พระพุทธเจ้าก็ทรงแก้ได้สิ้น ? "
   " เคยได้สดับ พระผู้เป็นเจ้า "

   " ขอถวายพระพร เทพยดามนุษย์ที่ได้สดับการแก้ปัญหาของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ดื่มโอสถคือพระธรรมแล้ว ก็ไม่แก่ไม่ตายได้ถูกต้องนิพพานแล้ว ก็ดับทุกข์ร้อนทั้งปวง ขอถวายพระพร "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #314 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2011, 11:10:00 am »

   ตลาดยาอมฤต

   " ข้อนี้ก็ชอบแล้ว พระนาคเสน "
   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดยาอมฤต ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? "

   " ขอถวายพระพร ได้แก่ กายคตาสติ ที่เทพยดามนุษย์ได้ดื่มแล้ว ก็หลุดพ้นจากการเกิด แก่ ตาย โศกเศร้า รำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ คับแค้นใจ ทั้งสิ้น เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นประชุมชนเกิดโรคต่าง ๆ จึงได้ทรงตั้งตลาดยาอมฤติ คือไม่รู้จักตายไว้ขอถวายพระพร "

   " ข้อนี้ก็สมควรแล้ว พระนาคเสน "

ต่อที่ # ๓๓๐
-http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=205.330

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #315 เมื่อ: เมษายน 12, 2012, 02:52:18 pm »

   ตลาดรัตนะ

   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดรัตนะ ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? "
   " ขอถวายพระพร ได้แก ศีลรัตนะ สมาธิรัตนะ ปัญญารัตนะ วิมุตติรัตนะ วิมุตติญาณทัสสนรัตนะ ปฏิสัมภิทารัตนะ โพชฌงครัตนะ อันทำให้โลกทั้งสิ้นสว่างไสว

   ศีลรัตนะ นั้นได้แก่อะไร...ได้แก่ปาฏิโมกข์สังวรศีล อินทรีย์สังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยสันนิสิตศีล จูฬศีล มัชฌิมศีล มฺหาศีล มรรคศีล ผลศีล

   สมาธิรัตนะ นั้นได้แก่ สมาธิอันมีทั้งวิตกวิจาร ๑ สมาธิอันไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ๑ สมาธิอันไม่มีทั้งวิตกวิจาร ๑ สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑ ภิกษุได้แก้วคือสมาธินี้แล้ว ย่อมกำจัด กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก เสียได้กำจัดมานะ อุทธัจจะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา กิเลสทั้งปวงเสียไป สิ่งเหล่านั้นไม่ติดค้างอยู่ในใจ เหมือนกับน้ำไม่ติดอยู่ใบบัวฉะนั้น

   ปัญญารัตนะ นั้นได้แก่ การรู้ตามเป็นจริงซึ่งสิ่งที่เป็นกุศล เป็นอกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ ควรประพฤติ ไม่ควรประพฤติ เลว ดี ดำ ขาว ทั้งดำ ทั้งขาว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ผู้ที่ได้แก้วคือปัญญาแล้ว ย่อมไม่ติดอยู่ในภพ ไม่ยินดีในภพ ย่อมได้ถูกต้องสิ่งที่ไม่รู้จักตายโดยเร็วพลัน

   วิมุตติรัตนะ ได้แก่ความเป็นพระอรหันต์อันหลุดพ้นจากสิ่งทั้งปวง
   วิมุตติญาณทัสสนรัตนะ ได้แก่การพิจารณาเห็นซึ่งความหลุดพ้นจากกิเลส

   ปฏิสัมภิทารัตนะ ได้แก่ อัตถปฏิสัมภิทา ธัมมปฏิสัมภิทา นิรุตติปฏิสัมภิทา ปฏิภาณปฏิสัมภิทา อันทำให้แกล้วกล้าในที่ทั้งปวง
   โพชฌงครัตนะ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา ขอถวายพระพร "

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #316 เมื่อ: เมษายน 22, 2012, 06:55:17 pm »


   ตลาดสิ่งทั้งปวง

   " ข้าแต่พระนาคเสน ตลาดสิ่งทั้งปวง ของพระพุทธเจ้านั้น ได้แก่อะไร ? "

   " ขอถวายพระพร ได้แก่พระพุทธวจนะอันประกอบด้วยองค์ ๙ และพระบรมสารีริกธาตุ บริโภคเจดีย์ พระสังฆรัตนะ ชาติสมบัติ โภคสมบัติ อายุสมบัติ อาโรคยสมบัติ วัณณสมบัติ ปัญญาสมบัติ ญาณสมบัติ มานุสิกสมบัติ ทิพยสมบัติ นิพพานสมบัติ มีอยู่ในตลาดนี้ทั้งสิ้น

   บุคคลย่อมซื้อเอาได้ด้วยทรัพย์คือศรัทธา ผู้ซื้อเอาสมบัติเหล่านี้ ได้ด้วยทรัพย์ คือศรัทธา ก็มีความสุขตลอดไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #317 เมื่อ: เมษายน 22, 2012, 07:39:05 pm »


   อุปมาธรรมนคร

   ขอถวายพระพร ในธรรมนครของพระพุทธเจ้านั้น มีแต่บุคคลผู้วิเศษทั้งนั้น คือมีแต่พระธรรมกถึก พระวินัยธร พระผู้ทรงพระสูตร พระผู้ทรงพระอภิธรรม พระผู้ทรงชาดก พระผู้ทรงนิกายทั้ง ๕ พระผู้สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ยินดีในโพชฌงคภาวนาเป็นพระวิปัสสนา เป็นผู้ประกอบประโยชน์ของตน และผู้อยู่ในป่าช้า ผู้อยู่ตามลอมฟาง ผู้ถือธุดงค์ต่าง ๆ ผู้ได้สำเร็จมรรคผล คุณวิเศษต่าง ๆ ทั้งนั้น

   ผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีอาสวะ ไม่มีตัณหา ไม่มีอุปาทาน ย่อมอยู่ในธรรมนคร
   ผู้ไกลจากกิเลส ผู้พ้นจากิเลส ผู้เจริญฌาน ผู้มีเครื่องนุ่งห่มเศร้าหมอง ผู้ยินดีอยู่ในป่าก็มีอยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้ไม่นอนได้แต่นั่ง ผู้อยู่ในป่าช้า ผู้มีแต่ยืนกับเดิน ผู้ใช้ผ้าบังสุกุล ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้ใช้เฉพาะไตรจีวร มีพระธรรมขันธ์เป็นที่ ๔ ผู้ยินดีในอาสนะเดียว ผู้รู้แจ้ง ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้ยินดีในฌาน ผู้มีจิตสงบ ผู้มีจิตตั้งมั่น ผู้ปรารถนาความไม่มีสิ่งใด ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น

   ผู้ได้มรรคผล ผู้ยังศึกษาอยู่ ผู้ยังหวังผลสูงสุดอยู่ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน ผู้ยินดีในโพชฌงคภาวนา ผู้เห็นแจ้งธรรมต่าง ๆ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้ฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในสมาธิภาวนาประกอบสัมมัปปธานเนือง ๆ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้สำเร็จอภิญญา ผู้ยินดีในปีติ และโคจรผู้เที่ยวไปในอากาศ ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น

   ผู้ทอดจักษุลงเบื้องต่ำ ผู้พูดน้อย ผู้สำรวมรักษาทวาร ผู้ฝึกตนดี ผู้มีธรรมสูงสุด ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น
   ผู้สำเร็จวิชชา ๓ อภิญญา ๖ อิทธิฤทธิ์ ปัญญา ก็อยู่ในธรรมนครทั้งนั้น ขอถวายพระพร


   พระภิกษุทั้งหลายผู้ทรงญาณอันประเสริญหาประมาณมิได้ ผู้ไม่มีเครื่องข้อง ผู้มีคุณชั่งไม่ได้ ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณและยศ ผู้ทรงสิริ ผู้ทรงกำจัด ผู้ทรงเชาว์ ผู้ทรงฤทธิ์ ผู้ทรงแสงสว่าง ผู้ทรงมติ ผู้ทรงวิมุตติ ผู้ทรงธรรม ผู้ทรงพระธรรมจักร ผู้สำเร็จปัญญา เรียกว่า " เป็นธรรมเสนาบดี " ในธรรมนคร

   พระภิกษุทั้งหลาย ผู้มีฤทธิ์ ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ผู้มีเวสารัชชญาณ ผู้ทรงไว้ซึ่งคุณ ผู้เข้าใกล้ได้ยาก ผู้เที่ยวไปไม่มีห่วง ผู้ทำแผ่นดินให้ไหว ลูบคลำดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ได้ ผู้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้เรียกว่า " ธรรมปุโรหิต " ในธรรมนคร

   พวกประพฤติธุดงค์ พวกมักน้อย พวกสันโดษ พวกเกลียดการแสวงหาที่ไม่ชอบธรรม พวกถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ผู้เกลียดรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผู้อยู่ในที่สงัด ผู้ไม่ห่วงใยในกายและชีวิต ผู้ถึงพระอรหันต์ ผู้ไม่ทิ้งธุดงค์ เรียกว่า " ธัมมักขทัสสนา " คือเป็นผู้ว่ากล่าวผู้น้อยผู้ใหญ่อยู่ในธรรมนคร

   ผู้บริสุทธิ์ ผู้ฉลาดในการตายการเกิด ผู้ได้ทิพจักขุ เรียกว่า " พวกโชตกา " คือพวกนั่งยามตามไฟ ตรวจตราไปในธรรมนคร

   พวกเป็นพหูสูตร มีอาคม ทรงธรรมวินัย ทรงมาติกา ฉลาดในอักขระน้อยใหญ่และเสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น ผู้ทรงไว้ซึ่งศาสนาประกอบด้วยองค์ ๙ เรียกว่า " ธรรมรักขา " คือผู้รักษาธรรมในธรรมนคร

   ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เรียกว่า " รูปทักขา " คือเป็นคนทายลักษณะในธรรมนคร
   ผู้สำเร็จอริยสัจ ๔ เรียกว่า " ผลาปณิกา " คือชาวร้านขายดอกไม้ในธรรมนคร
   ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล เรียกว่า " คันธาปณิกา " คือชาวร้ายขายของหอมในธรรมนคร
   ผู้ยินดีในพระธรรม ผู้ถือธุดงค์ ผู้มั่นในกถาวัตถุ ๑๐ เรียกว่า " นักดื่ม " ในธรรมนคร
   ผู้ประกอบความเพียรเพื่อป้องกันกิเลสเรียกว่า " ผู้รักษานคร " ในธรรมนคร

   ผู้บอกกล่าวสั่งสอนซึ่งธรรม เรียกว่า " ธัมมาปณิก "
   ผู้ออกตลาดพระธรรมในธรรมนคร ผู้กินพระธรรม ทรงไว้ซึ่งพระธรรมคำสอนมาก ผู้แทงตลอดซึ่งลักษณะแห่งสระ พยัญชนะในพระธรรม ผู้รู้แจ้งพระธรรม เรียกว่า " ธรรมเศรษฐี " ในธรรมนคร

   ผู้แทงตลอดซึ่งการแสดงธรรมอย่างสูง ผู้สะสม ผู้แจก ผู้แสดงออกซึ่งอารมณ์ ผู้สำเร็จคุณคือการศึกษา เรียกว่า " อิสสรธัมมิกา "
   เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงสร้างธรรมนครไว้ดีอย่างนี้แล้ว จึงทำให้รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ เหมือนกับเมื่อเห็นนครมีอยู่ ก็ต้องรู้ว่านายช่างผู้สร้างนครก็ต้องมีอยู่ฉะนั้น ขอถวายพระพร "

   " ข้าแต่พระนาคเสน พระภิกษุทั้งหลายผู้มีกำลังปัญญาดีอย่างพระผู้เป็นเจ้า อาจสร้างธรรมนครได้ แต่ยังเชื่อได้ยากว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่ ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป "


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #318 เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2012, 05:55:49 pm »


  อุปมาลูกคลื่นในมหาสมุทร

   " ขอถวายพระพร มหาสมุทรย่อมลึกตามลำดับ ทรงไว้ซึ่งทรายประมาณมิได้ เกลื่อนกล่นไปด้วยปลาติมิติ ปลามิงคละ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งนาค ครุฑ และผีเสื้อน้ำเป็นต้น เมื่อมีปลาใหญ่จะแสดงกำลังของตนก็ผุดขึ้นมาทำให้มหาสมุทรตีฟองนองละลอก คนได้เห็นแล้วก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่า มีปลาใหญ่อยู่ในมหาสมุทรนี้ฉันใด

   มหาสมุทรคือโลกนี้ ก็ลึกไปตามลำดับเป็นที่ขังน้ำ คือราคะ โทสะ โมหะ หาประมาณมิได้ เกลื่อนกล่นด้วยพาลปุถุชน แออัดรกรุงรังด้วยกิเลส ล้อมไว้ด้วยข่ายคือทิฏฐิ เป็นที่ไหลไปแห่งกระแสน้ำคือตัณหา สล้างสลอนด้วยธงชัยคือมานะ เร่าร้อนด้วยไฟ ๓ กองมืดด้วยความไม่รู้ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งคนดีคนชั่วทั้งสิ้น มีกษัตริย์ พราหมณ์ เวศย์ ศูทร อาชีวก ปัณฑรัค์ ปริพาชก นิครนถ์ และต่าง ๆ หาประมาณมิได้

   พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้ว ก็ทำให้โลกสะเทื้อนสะท้านด้วยลูกคลื่น คือพระธรรมเปลื้องสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุคติทั้งปวงประทานความไม่มีภัย ความไม่รู้จักตาย และยาแก้พิษ ยาแก้โรคต่าง ๆ ทำให้โลกไปถึงที่ปลอดภัย ทำให้โลกไม่มีมลทิน ปราศจากมลทิน ทำให้โลกขาว ฝึกโลก ทำให้โลกสงบ ทำให้โลกตั้งอยู่ในปฏิสัมภิทาทั้งปวง ตลอดถึงหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์

   ทรงแสดงลูกคลื่นคือพระธรรมว่า อันนี้เป็นทุกขอริยสัจ ผู้ได้เห็นลูกคลื่นคือพระธรรมแล้ว ได้สำเร็จโสดาปัตติผลก็มี สำเร็จสกิทาคามีผลก็มี สำเร็จอนาคามีผลก็มี สำเร็จอรหัตตผลก็มี ถือศีลก็มี เป็นอุบาสกอุบาสิกาก็มี ได้เพียงศรัทธาเลื่อมใสก็มี

   เหมือนครั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกขสัจ ที่ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในดาวดึงส์สวรรค์ฉะนั้น คือในคราวนั้น ด้วยกำลังลูกคลื่น คือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ได้มีเทวดาถึง ๘๐ โกฏิ ได้ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีมลทินว่า " สิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาทั้งมวล ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งสิ้น " พวกใดได้เห็นลูกคลื่น คือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ถึงซึ่งความตกลงใจ พวกนั้นย่อมได้คุณวิเศษยิ่งอย่างนั้น

   เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดง สมุทัยสัจ ก็ทำให้โลกนี้กับทั้งเทวโลกกระเพื่อม ทำให้เกิดละลอกคลื่นคือพระธรรม ดังคราวทรงแสดงสมุทัยสัจที่ ปาสาณกเจดีย์ เป็นตัวอย่าง คือในคราวนั้น ด้วยกำลังละลอกคลื่นคือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ก็ทำให้เทพยดามนุษย์ ๑๔ โกฏิ ได้ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีมลทินว่า " ทุกสิ่งที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็มีความดับไปเป็นธรรมดาทั้งนั้น " พวกใดได้เห็นละลอกคลื่น คือพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงใจ พวกนั้นก็ได้บรรลุคุณวิเศษอย่างนั้น

   เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดง นิโรธสัจ ก็ทรงทำให้โลกนี้กับทั้งเทวโลกกระเพื่อม ทำให้เกิดลูกคลื่นคือพระธรรม เหมือนครั้งทรงแสดงนิโรธสัจ คราวเสด็จลงจาก ดาวดึงส์สวรรค์ คือในคราวนั้น มีผู้ได้สำเร็จธรรมจักษุถึง ๓๐ โกฏิ ด้วยกำลังลูกคลื่น คือกำลังของพระพุทธเจ้า พวกใดได้เห็นลูกคลื่น คือกำลังของพระพุทธเจ้า แล้วถึงความตกลงใจพวกนั้นก็ได้คุณวิเศษอย่างยิ่งเห็นปานนั้น

   ส่วนในบัดนี้ พระสาวกเหล่าใดของพระพุทธเจ้า ตัดเครื่องผูกได้แล้ว กำจัดราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ละกิเลสได้แล้ว มีใจบริสุทธิ์แล้วมีใจข้ามไปได้ดีแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว พระสาวกเหล่านั้น ก็ชื่อว่าถึงความสงบอย่างเยี่ยม ด้วยกำลังลูกคลื่นคือพระธรรม
   ด้วยเหตุการณ์อันนี้ ด้วยอนุมานอันนี้แหละ จึงควรทราบว่า พระพุทธเจ้านั้นมีอยู่

   ขอมหาบพิตรจงทรงจำไว้ว่า พวกที่ได้เห็นลูกคลื่นในสาคร ก็รู้ด้วยอนุมานว่า สาครนั้น จักต้องเป็นของ กว้างใหญ่ฉันใด ผู้มีปัญญาทั้งหลายได้เห็นลูกคลื่น คือพระธรรมของพระพุทธเจ้า ผู้กำจัดความเศร้าโศกแล้ว ผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง ผู้ถึงความสิ้นตัณหาแล้ว ผู้เปลื้องการเวียนว่ายอยู่ในภพได้แล้ว ก็รู้ได้ว่า พระพุทธเจ้าผู้ทำให้เกิดลูกคลื่น คือพระธรรม จักต้องเป็นผู้ล้ำเลิศในโลก ดังนี้ "

   " ข้าแต่พระนาคเสน โยมเคยได้ฟังมาว่าพวกฤาษีภายนอก ย่อมทำให้โลกนี้กับเทวโลกหวั่นไหวได้ แสดงกำลังฤทธิ์ก็ได้ จึงยากที่จะเชื่อได้ว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป "


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: มิลินทปัญหา
« ตอบกลับ #319 เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2012, 06:13:57 pm »


   อุปมาพระยาเขาหิมพานต์

   " ขอถวายพระพร พระยาเขาหิมพานต์ประกอบด้วยระเบียบแห่งยอดเขา เงื้อมเขาล้วนเป็นศิลา ตั้งอยู่ในประเทศชื่อว่า " อชปถะ สังกุปถะ วลปถะ และเปตตปตะ " เป็นที่อาศัยอยู่แห่งตระกูลช้างฉัททันต์ ล้อมไปด้วยต้นไม้เครือไม้ อันปกคลุมเป็นสุมทุมต้นพฤกษาประดับประดาด้วยโตรกตรอกซอกเหวเขา มีต้นไม้เครือไม้นานาประการ ใหญ่สูงกว้างขวางดังท้องฟ้า เต็มไปด้วยต้นไม้ดอกต้นไม้ผล เกลื่อนกล่นไปด้วยสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งน้ำ คือซอกเขาลำเนาธาร อันมีน้ำเย็นใสสบายดี ประดับประดาไปด้วยเครื่องแวดล้อมคือหมู่สัตว์ต่าง ๆ เป็นที่อาศัยอยู่แห่งหมู่คนธรรพ์เป็นที่เที่ยวไปมาแห่งวิชาธรและสัตว์มีปีกต่าง ๆ เป็นที่อาศัยอยู่แห่ง ครุฑ นาค อสูร กุมภัณฑ์ และยักษ์ทั้งหลาย และเป็นที่อาศัยอยู่แห่งหมู่สัตว์ร้ายนานาประการ ทั้งเต็มไปด้วยรากไม้ผลไม้ที่เป็นยา ทั้งมากไปด้วยเครื่องหอมมีจันทร์แดง กฤษณา กะลัมพัก เป็นต้น เป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งที่มีกลิ่นหอมทั้งปวง มีภูเขา ล้อมรอบ คือ เขาตรีกูฏ เขาศิริกูฏ เขาไกรลาส เขาสุมนกูฏ เขาจิตตกูฏ เขายุคันธร แลดูสูงขึ้นไปเป็นชั้นเหมือนกับก้อนเมฆในวันแรม หรือเหมือนกับดอกอัญชันสีเขียวดูเป็นสีคราม สีม่วง สีหม่น บางแห่งก็เหมือนสีกายแห่งพญานาคอันเขียวดำ หรือเหมือนกับพยับแดดในเดือน ๕

   มนุษย์ทั้งหลายเห็นยอดเขานั้นตั้งแต่ไกลก็เข้าใจด้วยอนุมานว่า พระยาเขาหิมพานต์มีอยู่ฉันใด

   ภูเขาใหญ่คือพระธรรมของพระพุทธเจ้า อันพัวพันไว้ด้วยอารมณ์ คือฌานและธรรม มรรคผลเป็นเอนก เป็นที่อาศัยอยู่แห่งยอดเขา เงื้อมเขาอันว่างเปล่าอันไม่มีนิมิต ไม่มีที่ตั้ง อันมีผลคือพระธรรมกถึก พระวินัยธรพระผู้ทรงพระสูตร พระผู้ทรงพระอภิธรรมเป็นที่อาศัยอยู่แห่งกุศลคือพระอรหันต์ เป็นที่เที่ยวไปมาแห่งพระอริยเจ้าผู้ได้มรรคผล เป็นที่อาศัยอยู่แห่งผู้เข้าใกล้ได้ยากด้วยศีลธรรมคือผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ผู้ถือบิณฑบาตเป็นข้อวัตร ผู้มักน้อย ผู้ถือปฏิสัมภิทา ๔ เวสารัชชญาณ ๔ และผู้เลิศด้วยปัญญา เป็นต้น เกลื่อนกล่นด้วยยาถ่ายโรค ยาแก้พิษ ยารักษาไข้ เป็นบ่อเกิดแห่งของหอมทั้งปวง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สติปัฏฐาน สันโดษ ห้อมล้อมด้วยภูเขาอันประเสริฐคือ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรค ล้วนแต่เป็นภูเขาธรรมสูง ๆ ทั้งนั้น ส่วนภูเขาธรรมที่สูงยิ่งก็คือ พระนิพพาน อันไม่มีธุลีมลทิน อันขาวผ่อง ไม่มีสิ่งใดถูกต้องเป็นที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง เป็นที่สักการะเคารพนับถือยิ่ง ของเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย

   ภูเขาธรรมของพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ ด้วยภูเขาธรรมนั้นแหละ ทำให้รู้ด้วยอนุมานว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่แน่ ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานนานมาแล้วก็ดี พระศาสนาของพระองค์อันไม่หวั่นไหว อันแพร่หลายดีก็ยังมีอยู่

   ขอมหาบพิตรจงเข้าพระทัยเถิดว่า บุคคลได้เห็นยอดภูเขาอันสูงเยี่ยมเทียมเมฆ ก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่า ภูเขาใหญ่ในป่าหิมพานต์นั้นก็มีอยู่ฉันใด บุคคลได้เห็นธรรมบรรพตคีรี ภูเขาธรรมของพระพุทธเจ้า อันเป็นที่เยือกเย็นไม่เป็นที่ขังทุกข์ แล้วก็รู้ได้ด้วยอนุมานว่า พระพุทธเจ้าผู้ล้ำเลิสนั้นจักมีอยู่แน่ ดังนี้ขอถวายพระพร "

   " ข้าแต่พระนาคเสน พวกศาสนาภายนอกเขาก็แสดงมหาสมุทรโลก และธรรมคีรีได้โดยเอนกวิธี เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะเชื่อได้ว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่ด้วยเหตุนี้ ขอจงอุปมาให้ยิ่งขึ้นไป "