มาพิชิต...อ้วนกันเถอะ
-http://health.sanook.com/457/-
ในภาวะเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โรคที่พบส่วนใหญ่เกิดจากมลภาวะ ความเครียด และการดำเนินชีวิตที่ไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพตามมา โรคอ้วนก็เป็นโรคหนึ่งที่พบได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไป
โรคอ้วน หมายถึง การที่บุคคลมีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ โดยมีดัชนีมวลกาย (BMI : Body mass index) เป็นตัวกำหนด ซึ่งค่า BMI ที่เหมาะสมของคนเอเชียมีเกณฑ์ดังนี้ ค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5 – 22.9 กิโลกรัม/เมตร2 แสดงว่าเหมาะสม แต่ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5 กิโลกรัม/เมตร2 แสดงว่าผอมเกินไป ค่า BMI อยู่ระหว่าง 23 – 24.9 กิโลกรัม/เมตร2 แสดงว่ามีน้ำหนักตัวเกิน และถ้าค่า BMI มากกว่า 25 กิโลกรัม/เมตร2 แสดงว่า เป็นโรคอ้วน ค่าดัชนีมวลกายมีวิธีคำนวณดังนี้
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)
ความสูง2 (เมตร)
เช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 55 กิโลกรัม สูง 160 เซนติเมตรหรือ 1.60 เมตร
มีค่าดัชนีมวลกาย = 55 = 21.5 กิโลกรัม/เมตร2
1.6 x 1.6
ซึ่งจัดว่าค่าดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
ความอ้วนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ดังนี้
1. เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ง่าย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคนิ่วในถุงน้ำดี ปอดทำงานไม่ดี เป็นต้น
2. ความอ้วนมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งในอวัยวะบางตำแหน่งของร่างกาย เช่น ลำไส้ใหญ่ ถุงน้ำดี ต่อมลูกหมาก เต้านม ปากมดลูก รังไข่ และปอดในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น
3. เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งจะทำให้ออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน เป็นต้น
4. การรักษาโรคใดก็ตามด้วยการผ่าตัดมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่า
5. ทำให้ข้อต่างๆของร่างกายต้องแบกรับน้ำหนักมาก มีผลทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้
6. รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมและจิตใจ
7. การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ไม่สะดวก ขาดความกระฉับกระเฉงว่องไวในการทำกิจกรรม
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วน ได้แก่
1. พฤติกรรมในการรับประทานอาหาร : การรู้จักเลือกประเภทอาหารในการรับประทานเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการควบคุมน้ำหนัก เช่น ไขมันเป็นอาหารที่ให้พลังงานมากที่สุด โดยไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี อาหารที่มีไขมันสูง เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ เป็ดย่าง เนื้อผัดน้ำมันหอย เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ไข่แดง นม เนย อาหาร จำพวกทอดต่างๆ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ถ้ารับประทานในปริมาณมากก็จะทำให้ได้พลังงานเกินและเก็บสะสมไว้ในร่างกายส่งผลทำให้น้ำหนักตัวมากขึ้น นอกจากนี้พฤติกรรมการ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา รับประทานจุบจิบ รับประทานขนมขบเคี้ยวก็มีผลต่อน้ำหนักของร่างกายเช่นเดียวกัน
2. กิจวัตรประจำวัน : ปัจจุบันคนในสังคมเมืองทำงานในสำนักงานมากกว่างานที่ใช้แรง ทำให้การใช้พลังงานในชีวิตประจำวันลดน้อยลงรวมทั้งขาดการออกกำลังกาย ซึ่งการออกกำลังกายถือว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานสูงและแต่ละคนจะใช้พลังงานส่วนนี้แตกต่างกัน
3. พันธุกรรม: การสะสมพลังงาน เด็กที่มีพ่อแม่อ้วนมีแนวโน้มว่าจะอ้วน 25 – 30 %
4. เพศ : เพศหญิงจะอ้วนง่ายกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศชายมีกล้ามเนื้อมากจึงมีการใช้พลังงานมากกว่า
5. อายุ : เมื่ออายุมากขึ้นปริมาณกล้ามเนื้อจะน้อยลงและการทำกิจกรรมต่างๆลดลงทำให้การใช้พลังงานน้อยลง พลังงานจึงถูกเก็บสะสมในรูปของไขมัน
6. ความอ้วนในวัยเด็ก : ปกติร่างกายของทุกคนประกอบด้วยเซลล์ไขมันประมาณ 30,000 - 40,000 ล้านเซลล์ เซลล์เหล่านี้จะทำหน้าที่เก็บไขมันส่วนเกินไว้ในตัวมันเองโดยไม่จำกัดขนาดของเซลล์ ดังนั้นเด็กที่ได้รับอาหารมากกว่าปกติตั้งแต่ในวัยเด็กจะมีปริมาณและขนาดเซลล์ไขมันมากกว่าเด็กปกติ 3 เท่า ซึ่งจะทำให้เด็กคนนั้นมีโอกาสอ้วนไปตลอดชีวิต
7. โรคอื่นๆ : มีโรคบางอย่างที่ทำให้อ้วนได้ เช่น โรคของการเผาผลาญ อาหารบางอย่าง หรือโรคของฮอร์โมนบางชนิด เป็นต้น
วิธีลดความอ้วนและควบคุมน้ำหนัก มีดังนี้
1. จงลดความอ้วนด้วยความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ลดเพราะผู้อื่นบังคับ
2. เลือกเวลาที่เหมาะสม มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
3. ตั้งเป้าหมายในการลดความอ้วนที่มีความเป็นไปได้ ไม่ตั้งเป้าสูงเกินไป โดยผู้หญิงควรตั้งเป้าไว้ ½ กก.ต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ชาย 1 กก.ต่อสัปดาห์ และควรให้น้ำหนักค่อยๆลดลงเพราะถ้าน้ำหนักลดลงเร็วเกินไปจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
4. รับประทานอาหารทุกมื้อตามปกติแต่ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง เช่น อาหารประเภทข้าว แป้ง ขนมปังควรรับประทานแต่พอควร ซึ่งโดยทั่วไปผู้หญิงที่ทำงานในสำนักงานไม่ควรรับประทานข้าวเกิน 7-8 ทัพพี/วัน สำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 10-12 ทัพพี/วัน และควรรับประทานผัก ผลไม้ เช่น ส้ม ชมพู่ มะละกอ แตงโม ฝรั่งให้มากขึ้นเพราะให้พลังงานต่ำ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมันหรือติดหนัง อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ กะทิ เป็นต้น
5. งดดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ และงดรับประทานอาหารหวาน ขนมหวาน และผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน ลำไย เป็นต้น
6. ปรับเปลี่ยนนิสัยในการรับประทานอาหาร เช่น ไม่รับประทานจุบจิบ ไม่รับประทานขนมขบเคี้ยว และควรเคี้ยวอาหารช้าๆ เป็นต้น
7. หมั่นออกกำลังกาย เช่น การเดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ อย่างน้อยครั้งละ 30 – 45 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้งหรือวันเว้นวัน หรือเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันเพื่อให้ร่างกายใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เช่น ขึ้นลงโดยใช้บันไดแทนการใช้ลิฟท์ เป็นต้น
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
1. การอดอาหาร : จะทำให้น้ำหนักตัวในช่วงแรกลดลงเร็วจากการขาดน้ำ แต่ปริมาณไขมันในร่างกายไม่ได้ลดลง ในทางตรงข้ามหลังอดอาหารเมื่อกลับมารับประทานอาหารใหม่มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
2. รับประทานยาลดความอ้วน : เนื่องจากเป็นยาที่ลดความอยากอาหารหรือเพิ่มการใช้พลังงานโดยการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง มีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ขาดน้ำการดูดซึมอาหารลดลง นอกจากนี้ร่างกายมักมีอาการทนต่อยาและต้องใช้ยาในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลในการลดน้ำหนักซึ่งอาจมีโทษต่อร่างกายตามมา ดังนั้นจึงไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาเกี่ยวกับยาลดความอ้วนต่างๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนแล้วควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการคือ
1. ลดน้ำหนักให้ได้พอควร
2. รักษาน้ำหนักตัวที่ลดลงแล้วให้ได้ตลอด
3. ร่วมกับโรคอ้วน
การลดน้ำหนักเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับความตั้งใจจริงจะเป็นหัวใจสำคัญในการลดน้ำหนักให้ได้ผล อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักตัวไว้ได้โดยวิธีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย รวมทั้งมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาในการดูแลรักษาต่อไป
เอกสารอ้างอิง
พินิจ กุลละวณิชย์.(2544).โรคอ้วน.วงการแพทย์,ปีที่ 2 (ฉบับที่ 80), หน้า 22.
วิชัย ตันไพจิตร ปรียา ลีฬหกุล รัตนา พากเพียรกิจวัฒนา. (2544).การตรวจคัดกรองโรคอ้วนและภาวะทุพโภชนาการในผู้ใหญ่. วารสารคลินิก,ปีที่ 17 (ฉบับที่ 4),หน้า 295 – 304.
วิชัย ตันไพจิตร ปรียา ลีฬหกุล รัตนา พากเพียรกิจวัฒนา. (2544).การให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันและบำบัดโรคอ้วน.วารสารคลินิก,ปีที่ 17(ฉบับที่ 4),หน้า 305 – 317.
วันทนีย์ เกรียงสินยศ.(2548).กินอย่างไรไม่ให้อ้วน. ใน สุรเกียรติ อาชานานุภาพ(บรรณาธิการ),นิตยสารหมอชาวบ้าน(ฉบับที่ 318,หน้า 30 – 32 ).กรุงเทพ : สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.อาหารทั่วไปและเฉพาะโรคผู้สูงอายุ.
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ,(2544).ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 2 ).กรุงเทพฯ: อุษาการพิมพ์.
งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และ ภัทราพร พูลสวัสดิ์
จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2520-1
ขอบคุณข้อมูล จาก
http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/79เนื้อหาโดย : Sanook!