เมล็ดเจีย ธัญพืชมากประโยชน์ ขุมทรัพย์แห่งสุขภาพ
-http://health.kapook.com/view110535.html-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เมล็ดเจีย หรือ เมล็ดเชีย ธัญพืชตัวจิ๋วแต่มากด้วยประโยชน์ ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวช่วยลดน้ำหนัก แต่รู้ไหมว่า เมล็ดเจียไม่ได้มีดีแค่ช่วยลดน้ำหนักนะ ยังป้องกันโรคและบำรุงสุขภาพของเราได้อีกด้วย
เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักเมล็ดเจีย (Chia Seed) กันมาบ้างแล้ว จากสรรพคุณหลายข้อของเมล็ดเจียที่ดีต่อสุขภาพทั้งช่วยป้องกันโรคและดูแลสุขภาพของเราให้แข็งแรง โดยเฉพาะเรื่องการลดน้ำหนัก แต่อาจยังไม่รู้กันว่าเมล็ดเจียตัวจิ๋วที่เราชอบทานนั้นมีประโยชน์แอบซ่อนอยู่อีกมาก เรียกว่าประโยชน์คับเมล็ดเลยก็ว่าได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงขออาสาพาทุกคนมาทำความรู้จักเจ้าเมล็ดเจียตัวจิ๋วนี้กันให้มากขึ้นว่าทำไมเมล็ดเจียจึงเป็นธัญพืชมากประโยชน์ที่เราควรกินให้ได้ทุกวัน
เมล็ดเจีย คืออะไร มาจากไหนกันนะ
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เมล็ดเจียเป็นพืชที่มีอายุมานานกว่า 3,500 ปีก่อนคริสตกาลตั้งแต่สมัยอาณาจักรแอซแท็ก และอาณาจักรมายันในทวีปอเมริกา มีความหมายว่า ความแข็งแรง เพราะชาวแอซเท็กและชาวมายันนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหารหลักเหมือนกับธัญพืชทั่วไป เช่น ข้าวโพด และถั่ว โดยพวกเขาจะนำเอาเมล็ดเจียมาบดรวมกับแป้ง คั้นเป็นน้ำมันออกมาเพื่อใช้ดื่ม หรือไว้ปรุงอาหาร ด้วยความเชื่อที่ว่า เมล็ดเจียมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงนั่นเอง
ต่อมาในยุคล่าอาณานิคมของสเปน ฝั่งอเมริกาใต้ตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน ทำให้เมล็ดเจียกลายเป็นอาหารต้องห้าม โดยผู้นำสเปนในยุคนั้นประกาศว่า ห้ามเพาะพันธุ์เมล็ดเจียอีกต่อไปทำให้เมล็ดเจียค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ กระทั่งเข้าสู่ยุคของอเมริกาสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบพันธุ์พืชเมล็ดเจียอีกครั้ง จึงเกิดการค้นคว้าวิจัยถึงประโยชน์ของพืชพันธุ์ชนิดนี้ และเริ่มมีการขยายสายพันธุ์กระทั่งกลายมาเป็นสายพันธุ์เมล็ดเจียที่เราใช้บริโภคกันจนทุกวันนี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเมล็ดเจีย
เมล็ดเจียเป็นพืชในกลุ่มเครื่องเทศตระกูลเดียวกับกะเพรา หรือ มินต์ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ชื่อว่า Salvia Hispanica L.ลักษณะลำต้นสูงประมาณ 4-6 ฟุต เป็นพืชให้เมล็ดเล็ก ๆ มีสองสีคือดำและขาว เปลือกนอกเมล็ดพองตัวได้เหมือนเม็ดแมงลัก พืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น และเป็นพืชเศรษฐกิจที่นิยมปลูกกันมากในทวีปอเมริกา ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา โบลิเวีย เอกวาดอร์ และกัวเตมาลา นอกจากนี้ก็ยังปลูกได้ในประเทศออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยมีการเพาะพันธุ์เมล็ดเจียในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่คือ ลำปาง กาญจนบุรี ฯลฯ
เมล็ดเจีย
เมล็ดเจีย เม็ดแมงลัก ต่างกันอย่างไร
หลายคนเข้าใจคิดว่าเมล็ดเจียคือเม็ดแมงลัก ความจริงแล้วเป็นธัญพืชคนละชนิดกันเลยค่ะ แม้ว่าทั้งเมล็ดเจียและเม็ดแมงลักจะนำไปแช่น้ำแล้วจะมีลักษณะคล้ายกันก็ตาม แต่ก็มีความต่างที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ค่ะ นั่นคือ ก่อนนำไปแช่น้ำ เมล็ดเจียจะมีลักษณะรี มีสีน้ำตาลเทา มีลวดลายเล็กน้อย ส่วนแมงลักจะมีลักษณะรี มีสีดำเข้ม แต่ถ้าหากนำไปแช่น้ำแล้วจะพบว่าเมล็ดเจียจะเกิดการพองตัวลักษณะเม็ดใส แต่เม็ดแมงลักจะพองตัวลักษณะเม็ดมีเมือกสีขาวขุ่น
เมล็ดเจียกับคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ธรรมดา
จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture) เผยว่า เมล็ดเจียเป็นธัญพืชที่มีคุณสมบัติเป็นทั้ง Super Fruit และ Super Seed อัดแน่นไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ไฟเบอร์ กรดไขมันดีชนิดโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 แคลเซียม สารต้านอนุมูลอิสระ และโปรตีน ซึ่งเมื่อนำเมล็ดเจียเต็มเมล็ด หรือนำไปบด แล้วนำไปแช่กับของเหลว เช่น น้ำ น้ำผลไม้ หรือ นม เมล็ดเจียจะสามารถพองตัวขึ้นมาได้อีก 12 เท่า ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับอาหารได้ เช่น การเพิ่มเมล็ดเจียในน้ำผลไม้ที่มีสารเรสเวอราทรอล เช่น น้ำทับทิม หรือ น้ำผลไม้ตระกูลเบอร์รี จะช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระในเครื่องดื่มนั้น ๆ ได้
เมล็ดเจียเพียง 1 ออนซ์ (28 กรัม) ให้พลังงานเพียง 137 แคลอรี อุดมด้วยสารอาหารเน้น ๆ ดังต่อไปนี้
พลังงาน 382 กิโลแคลอรี
น้ำ 6.61 กรัม
โปรตีน 40.32 กรัม
ไขมัน 11.89 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 35.14 กรัม
ไฟเบอร์ 34.4 กรัม
แคลเซียม 150 กรัม
ธาตุเหล็ก 14.30 กรัม
แมกนีเซียม 362 กรัม
ฟอสฟอรัส 810 กรัม
โพแทสเซียม 425 กรัม
โซเดียม 41 กรัม
ซิงก์ 10.70 กรัม
วิตามินเอ 3 ไมโครกรัม
วิตามินบี 1 2.5 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.270 มิลลิกรัม
วิตามินบี 3 12.6 มิลลิกรัม
วิตามินบี 6 0.152 มิลลิกรัม
โฟเลต 29 ไมโครกรัม
กรดไขมันอิ่มตัว 1.634 กรัม
กรดไขมันไม่อิ่มตัว 4.405 กรัม
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 5.113 กรัม
เมล็ดเจีย
เมล็ดเจีย สรรพคุณทางยาสุดเวิร์กที่ต้องบอกต่อ
เมล็ดเจียเม็ดเล็ก ๆ มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าที่เราคิดไว้ซะอีกค่ะ เรามาดูกันว่าถ้าเรากินเมล็ดเจียเป็นประจำทุกวันแล้ว สุขภาพของเราจะดีขึ้นในด้านไหนบ้างนะ
หัวใจแข็งแรง
เมล็ดเจียอุดมด้วยกรดไขมันดีโอเมก้า-3 และ โอเมก้า-6 ช่วยปรับสมดุลระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เกิดการไหลเวียนเลือดดีเข้าสู่หัวใจ จึงเป็นผลให้หัวใจของเราแข็งแรงขึ้น
ห่างไกลโรคเบาหวานประเภท 2
เมล็ดเจียเป็นธัญพืชที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ แต่อุดมด้วยไฟเบอร์สูงที่ช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด จึงมีคุณสมบัติช่วยต้านโรคเบาหวานประเภท 2 ได้
บาดแผลหายเร็ว ไม่ติดเชื้อง่าย
เมล็ดเจียมีกรดไขมันโอเมก้าทรีที่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) มีฤทธิ์แก้อักเสบ จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันการติดเชื้อของบาดแผล ช่วยให้บาดแผลหายเร็ว ไม่เรื้อรัง
ร่างกายมีระบบเผาผลาญพลังงานดีขึ้น
เมล็ดเจียมีไฟเบอร์ โปรตีน และกรดไขมันโอเมก้าทรีสูง จึงช่วยปรับสมดุลระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้
บำรุงความจำ
เมล็ดเจียมีกรดไขมันโอเมก้าทรีสูงกว่าปลาแซลมอนถึง 9 เท่า ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมองให้ทำงานเป็นปกติ เราจึงมีกระบวนการเรียนรู้และจดจำดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น
ห่างไกลโรคกระดูกพรุน
เมล็ดเจียอุดมด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อกระบวนการเสริมสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโปรตีน จึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และภาวะกระดูกบางได้
ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ
เมล็ดเจียอุดมด้วยไฟเบอร์อยู่ประมาณ 34.4 กรัม ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณไฟเบอร์ที่เพียงพอสำหรับร่างกายในแต่ละวัน ที่จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ
ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
เมล็ดเจียอุดมด้วยโปรตีน และแร่ธาตุฟอสฟอรัสที่ช่วยบำรุงเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายเรา เพื่อดูดซึมไปใช้กระบวนการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
เมล็ดเจีย
เมล็ดเจีย กับประโยชน์สุขภาพเน้น ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
นอกจากเมล็ดเจียจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายของเราสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ยังมีข้อดีที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย มาดูกันว่าถ้าเราบริโภคเมล็ดเจียเป็นประจำทุกวัน เราจะได้ประโยชน์อะไรจากเมล็ดเจียบ้าง
อารมณ์ดี
กรดอะมิโนทริปโตเฟนในเมล็ดเจียเป็นกรดอะมิโนชนิดเดียวกับที่พบในนม ช่วยคุมความอยากอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ และช่วยปรับปรุงอารมณ์ให้เป็นปกติ
อิ่มแบบพุงไม่ป่อง
เมล็ดเจียมีไฟเบอร์สูง อุดมด้วยไขมันดี อีกทั้งยังกินแล้วย่อยง่ายด้วย ดังนั้น เราจึงหายห่วงเรื่องกินอิ่มแล้วมีพุงป่องยื่นออกมา
ท้องไม่ผูก
เมล็ดเจียอุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดไซเลียม หรือเส้นใยกลุ่มล้างสารพิษ ช่วยดูดซึมสารพิษตกค้างในลำไส้ ให้ระบายออกมาในรูปของเสีย และยังช่วยให้เราท้องไม่ผูกอีกด้วย
เป็นแหล่งพลังงานในยามเร่งด่วน
เมล็ดเจียมีสารอาหารประเภทโปรตีนอยู่ร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าโปรตีนที่พบในธัญพืช หรือเมล็ดข้าวชนิดต่าง ๆ ซะอีก จึงช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายได้ดีในยามที่เราต้องเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา ที่ต้องการอาหารบำรุงร่างกายให้สามารถมีแรง เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัว
ไม่อ้วน
เมล็ดเจียกินแล้วอิ่มสบายท้อง อีกทั้งยังมีแคลอรีต่ำ ย่อยง่าย ร่างกายไม่สะสมเป็นไขมัน เราจึงไม่มีไขมันส่วนเกินสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
ดูอ่อนวัยลง
เมล็ดเจียมีสารต้านอนุมูลอิสระ แร่ธาตุและวิตามินมากกว่าในผลไม้ตระกูลเบอร์รีซะอีก ช่วยบำรุงความงามให้ดูอ่อนวัยลงในด้านต่าง ๆ เช่น เส้นผมนุ่มสลวย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง เล็บแข็งแรง ไม่เปราะหักง่าย และยังช่วยลดปัญหาสิวอีกด้วย
ไม่ขาดสารอาหาร
ใครที่อยากลดน้ำหนักแต่ไม่อยากขาดสารอาหาร เมล็ดเจียน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะอุดมด้วยคุณค่าทางสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวันอย่างครบถ้วน ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามินเอ วิตามินบีรวม แคลเซียม ธาตุเหล็ก ซิงก์ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส และกรดไขมันโอเมก้าทรี
เมล็ดเจีย กับเมนูสุขภาพที่หลากหลาย
เมล็ดเจียสามารถนำไปทำเป็นเมนูสุขภาพได้อย่างหลากหลายเชียวค่ะ รับรองว่าคนชอบกินต้องถูกใจแน่นอน มาดูกันดีกว่าเมล็ดเจียเม็ดจิ๋วนี้นำไปเมนูได้หลากหลายแค่ไหนกันนะ
อาหารคาว ได้แก่ สลัดผัก พาสต้า สปาเกตตี้ พิซซ่า และก๋วยเตี๋ยว หรือแม้แต่เป็นผักเครื่องเคียงในเมนูทุกชนิด
อาหารหวาน ได้แก่ ผสมเป็นสเปรด (Spread) กับเนยเอาไว้ทาขนมปัง นำไปโรยใส่ไอศกรีม กินกับโยเกิร์ต เพิ่มในซีเรียล ทำเมนูสมูธตี้และมิลค์เชค
เครื่องดื่ม ได้แก่ ใส่ในน้ำผลไม้คั้นสด หรือทำเบเกอรีชนิดต่าง ๆ พุดดิ้ง เมนูชา กาแฟ
เมล็ดเจีย ปริมาณการกินที่ต่อสุขภาพ
เมล็ดเจียเป็นอาหารที่เราสามารถกินได้ทุกวัยเลยนะคะ ลองมาดูกันว่า ปริมาณการบริโภคเมล็ดเจียที่เหมาะสมและดีต่อสุขภาพนั้นควรเป็นอย่างไร
เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรบริโภคประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน
เด็กที่อายุตั้งแต่ 5-18 ปี ควรบริโภคประมาณ 1.4-4.3 กรัมต่อวัน
วัยผู้ใหญ่ ควรบริโภคประมาณ 15 กรัม หรือประมาณ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน
ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรบริโภคแบบป่นประมาณ 33-41 กรัมทุก ๆ 3 เดือน
เมล็ดเจีย
เมล็ดเจีย ลดความอ้วนได้อย่างไร
เมล็ดเจียเหมาะที่จะเป็นอาหารลดน้ำหนักอย่างดี เพราะนอกจากจะช่วยคุมความอยากอาหารได้แล้ว ยังทำให้เราอิ่มท้องนานแบบมีแคลอรีต่ำ ไม่สะสมเป็นไขมันในร่างกายได้ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังนั้น เมล็ดเจียมีกลไก 3 อย่างเท่านั้นที่ทำให้เราลดความอ้วนได้สำเร็จ นั่นคือ
ดูดซึมของเหลว เมล็ดเจียอุดมด้วยไฟเบอร์ที่ละลายในน้ำได้ ดังนั้นเมื่อเรานำเมล็ดเจียไปแช่ในของเหลวประเภทต่าง ๆ เช่น นม น้ำเปล่า หรือ น้ำผลไม้ เมล็ดก็จะทำการอุ้มน้ำเอาไว้ และเมื่อเราทานเข้าไป ไฟเบอร์ก็จะทำการขยายตัวในกระเพาะของเรา เราจึงรู้สึกอิ่ม
ค่อย ๆ ถูกย่อย อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ไฟเบอร์นั้นย่อยง่าย แต่แทนที่จะถูกระบบย่อยอาหารของเราย่อยสลายหมดไปภายในพริบตาเดียว กลับกลายเป็นว่าระบบย่อยอาหารค่อย ๆ ย่อยไปทีละน้อย เราจึงรู้สึกอิ่มนาน ไม่นึกอยากกินอะไร
คงคุณค่าสารอาหาร เมล็ดเจียถือเป็นตัวช่วยลดน้ำหนักที่ดีสำหรับคนชอบกินนะคะ เพราะการที่เราอยากกินจุบจิบก็มาจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่เพียงพอนั่นเอง
เมล็ดเจีย ซื้อที่ไหน ราคาแพงไหม
เมล็ดเจียเป็นหนึ่งในธัญพืช จัดอยู่ในหมวดอาหารออร์แกนิค เราสามารถหาซื้อเมล็ดเจียได้ตามร้านขายอาหารชีวจิต ร้านขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ร้านขายสินค้าโอทอป หรือ แม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วไปในแผนธัญพืช ส่วนใหญ่วางขายในรูปของบรรจุหีบห่อ ทั้งแบบชนิดสด และสำเร็จรูป
สำหรับราคาของเมล็ดเจียแบบบรรจุห่อนั้นมีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันค่ะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกรดของเมล็ดพันธุ์ที่อาจมาจากแหล่งผลิตในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ และถ้าใครสนใจอยากซื้อเป็นเมล็ดพันธุ์มาเพาะพันธุ์เอง ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชทั่วไป ชมรมเกษตรประจำจังหวัด หรือมูลนิธิโครงการหลวงค่ะ โดยราคาของเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ประมาณหลักสิบขึ้นไป หรืออาจไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะมีแจกฟรี
เมล็ดเจีย
8 ข้อยกเว้นน่ารู้ของเมล็ดเจีย
แม้ว่าเมล็ดเจียจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม ซึ่งก็มีข้อมูลที่เป็นคำเตือนจากหลายองค์กรสำคัญ ได้แก่ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (AHA) ผลการวิจัยทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยโตรอนโต และบริษัทผู้ผลิตอาหารสุขภาพในสหรัฐฯ เผยตรงกันว่า เมล็ดเจียอาจไม่ได้กินแล้วดีต่อสุขภาพสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ปัญหาเรื่องสุขภาพดังต่อไปนี้
คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก รวมถึงกรดไหลย้อนนั้นหากกินเมล็ดเจียเข้าไปแล้ว จะทำให้อาการหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะเส้นใยไฟเบอร์ที่ขยายตัวในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ที่จะยิ่งกระตุ้นให้ตับอ่อนเร่งสร้างน้ำย่อยออกมานั่นเอง
เมล็ดเจียไม่เหมาะสำหรับคนเป็นโรคแพ้กลูเตน หรือ โรคแพ้โปรตีนในธัญพืช วิธีเช็กว่าตัวเองแพ้กลูเตนหรือไม่ ให้ลองกินมัสตาร์ด หรือเมล็ดมัสตาร์ด หากมีอาการแพ้ก็ควรหลีกเลี่ยงการกินเมล็ดเจีย
คนที่ต้องเข้ารับการศัลยกรรม หรือ มีประวัติการใช้ยาแอสไพริน ไม่ควรกินเมล็ดเจีย เพราะจะยิ่งทำให้หลอดเลือดบางลง ซึ่งอาจมีผลต่อการเกิดภาวะฮีโมฟิเลีย (Haemophiliacs) หรือภาวะที่เลือดแข็งตัวช้า เลือดไหลไม่หยุด
ผู้ชายไม่ควรบริโภคเมล็ดเจียมากเกินไป เพราะในเมล็ดเจียมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวแอลฟา ลิโนเลอิก (alpha-linoleic acid) ที่จะไปกระตุ้นให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรบริโภคเมล็ดเจีย เพราะมีผลต่อแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวให้ต่ำลง (Diastolic blood pressure) อาจก่อให้เกิดอาการช็อก หรือหมดสติได้
ไม่ควรบริโภคเมล็ดเจียติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี เพราะร่างกายจะเกิดการเสพติด และเลิกยาก ทางที่ดีควรเว้นช่วงไปบ้าง
ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรบริโภคเมล็ดเจีย เพราะมีผลต่อสารอาหารในน้ำนมให้เปลี่ยนไปจากเดิม
การกินเมล็ดเจียร่วมกับอาหารเสริมวิตามินบี 17 ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายสะสมสารไฟโตนิวเทรียนท์ในปริมาณมาก กลายเป็นสารพิษที่นำมาซึ่งโรคมะเร็งในที่สุด
เห็นไหมคะว่า เมล็ดเจียเม็ดจิ๋วนี้มีประโยชน์แอบซ่อนอยู่ไว้เพียบเลย ดังนั้นใครที่กินเมล็ดเจียเป็นประจำอยู่แล้ว เราเชื่อว่าน่าจะรู้หลักในการบริโภคกันมากขึ้น หรือถ้าใครยังไม่เคยลองกินเลย ก็ขอให้รีบไปหาซื้อมาติดครัวเอาไว้นะคะ รับรองว่ากินแล้วสุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยแน่นอนค่ะ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
รู้ไว้ “อาหารเสริม” ไม่ใช่ยา อาจได้รับอันตราย!!
-http://club.sanook.com/65575/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A/-
รู้ไว้ “อาหารเสริม” ไม่ใช่ยา อาจได้รับอันตราย!!
อย.เตือนผู้บริโภค อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ย้ํา! ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องเพศ อย.ไม่เคยอนุญาตโฆษณา “อกฟูรูฟิต” ขอให้ผู้บริโภคพิจารณาให้ ถี่ถ้วนก่อนซื้อ นอกจากเสียเงินโดยไม่จําเป็นแล้ว อาจได้รับผลข้างเคียงอย่างคาดไม่ถึง
อาหารเสริม
ภก.ประพนธ์อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และในฐานะโฆษก อย. เปิดเผยว่า หลังเป็นข่าวบนโลกออนไลน์มีผู้นําอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นกับภรรยามาแชร์ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร“อกฟูรูฟิต” ที่ได้รับผลข้างเคียงถึงข้ันต้องผ่าตัดก้อนเนื้อในมดลูก ซึ่งระบุว่ากินติดต่อกันมานานถึง 6 ปีเริ่มแรก 2- 6 เม็ดและเพิ่มปริมาณเป็น 10 เม็ดต่อวัน โดยผู้ขายสินค้าอธิบายว่ากินมากได้ผลเร็ว สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้บริโภคมักได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ขายว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสามารถรับประทานในปริมาณมากได้ตามต้องการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด เพราะการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดเข้มข้นในปริมาณมาก อาจทําให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่ได้ช่วยเสริมเรื่องทางเพศ ขอให้ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่สําคัญ อย่าได้หลงเชื่อสรรพคุณว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรค นอกจากเสียเงินโดยไม่จําเป็นแล้ว หากท่านมีโรคประจําตัว อาจได้รับผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายโดยคาดไม่ถึงได้ที่ผ่านมา อย. ได้มีการตรวจจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริงในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะลดน้ําหนัก เสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ทําให้ผิวขาวใส ฟิต หุ่นเฟิร์ม หรือใช้บุคคลเป็นตัวแทนบอกเล่าสรรพคุณการใช้ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่พบโฆษณาในลักษณะ ขายตรง , ทางเว็บไซต์ , ทางคอลเซ็นเตอร์ , ทางเคเบิลทีวี , ทางวิทยุ หรือตามหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่ง อย.ได้ตรวจสอบและดําเนินคดีต่อผู้กระทําผิดมาโดยตลอดเพราะผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างสรรพคุณเหล่านี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตโฆษณาจาก อย.
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายก็เพียงพอ ไม่จําเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานโดยตรงนอกเหนือจากการรับประทานอาหารหลักเพื่อเสริมสารบางอย่างและมีจุดมุ่งหมายสําหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติไม่ใช่ผู้ป่วย และไม่ควรให้เด็กและสตรีมีครรภ์รับประทาน แต่หากจําเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ก่อนตัดสินใจซื้อ นอกจากต้องตรวจสอบข้อมูลโฆษณาให้แน่ชัดแล้ว ผู้บริโภคต้องตรวจสอบข้อความบนฉลาก ซึ่งต้องแสดงข้อความภาษาไทย ได้แก่ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมายอย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต/ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นําเข้า (ในผลิตภัณฑ์นําเข้าต้องระบุประเทศผู้ผลิตด้วย) ส่วนประกอบสําคัญ วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ เป็นต้น
รองเลขาธิการฯ อย. ในตอนท้ายว่า หากผู้บริโภคพบเห็นการอวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริงผ่านทางสื่อต่าง ๆ หรือโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อโดยการขายตรง ขอให้แจ้งร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือ e–mail : 1556@fda.moph.go.th หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อทางราชการจะได้ตรวจสอบและดําเนินการตามกฎหมายต่อไป
ขอบคุณข้อมูล จาก สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบ จาก istockphoto.com