วันนี้ ผมขอนำเรื่องของการประกันชีวิตในเบื้องต้น นำมาลงให้อ่านกัน ความเห็นส่วนตัวผม การประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ดี มีประโยชน์ มีคุณค่า อ่านให้ครบทุกบรรทัดน๊ะครับ
แต่เราต้องเลือก เรื่องที่ต้องเลือก มีดังนี้
1.บริษัทที่รับทำประกัน ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีปัญหาในเรื่องของการติดต่อ , มีปัญหาในเรื่องของประวัติในการเคลมของบุคคลอื่นๆ เป็นต้น
2.ประเภทของกรมธรรม มีทั้งเรื่องของระยะเวลาในการส่งเบี้ยฯ , จำนวนทุนประกัน (ซึ่งมีผลกับค่าเบี้ยประกันรายปีที่มีจำนวนมากหรือจำนวนน้อย)
3.ตัวแทนประกันชีวิต หรือ นายหน้าประกันชีวิต ต้องเลือกคนที่ไว้วางใจในการบริการเรา และ ต้องเลือกคนที่มีความรอบรู้ มีความสามารถในการแนะนำในเรื่องของประกันชีวิตให้เราได้
4.ตัวแทนประกันชีวิต หรือ นายหน้าประกันชีวิต ก่อนที่นำเสนอประกันชีวิต ต้องแสดงใบอนุญาต และ ต้องแจ้งชื่อ - นามสกุล และเลขที่ในใบอนุญาตเสมอ เพราะการขายประกันชีวิต ต้องได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เสมอ
********** มาถึงประเด็นสำคัญ การทำประกันชีวิต ต้องเป็นการทำโดยความสมัครใจ ต้องไม่มีการบังคับทั้งทางตรง และ ทางอ้อม โดยเด็ดขาด หากเจอในปัญหานี้
เป็นต้นว่า
การขอสินเชื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ สินเชื่อธุรกิจ แล้วธนาคารมีการแจ้งว่า ต้องทำประกันชีวิต หากไม่ทำประกันชีวิต วงเงินสินเชื่อจะไม่ผ่าน
หรือ
การขอลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศํย (การRifinance(การย้ายวงเงิน) สินเชื่อที่อยู่อาศัยไปยังสถาบันการเงินอื่น) ว่า ต้องทำประกันชีวิต (หรือต้องประกันวินาศภัย เช่น ประกันอุบัติเหตุ) หากไม่ทำประกันชีวิต หรือ ประกันวินาศภัยแล้ว ไม่สามารถดำเนินการลดอัตราดอกเบี้ยได้ หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่มากนัก
เพราะการทำประกันชีวิต หรือ การทำประกันวินาศภัย ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้าเป็นหลัก ต้องไม่มีประเด็นในเรื่องอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องได้ หากพบเรื่องราวในประเด็นนี้ สามารถร้องเรียนเข้าไปที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผมแนะนำว่า ควรทำเป็นหนังสือ และให้ทาง คปภ.แจ้งกลับมาเป็นหนังสือด้วย ผมว่าดีที่สุด โดยปกติส่วนตัวหากมีเหตุเกิดขึ้น ผมจะทำเป็นหนังสือ จะได้เป็นหลักฐานเก็บไว้ด้วยครับ
การร้องเรียน สามารถร้องเรียนไปได้ที่
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
1. การยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงาน คปภ. ไม่เป็นเหตุให้อายุความฟ้องคดีตามกฎหมายสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด
2. สำนักงาน คปภ.ขอสงวนสิทธิในการไม่ดำเนินการตามเรื่องที่ยื่นหากปรากฎว่าข้อความที่ร้องเรียนไม่ถูกต้องหรือไม่อาจติดต่อผู้ร้องเรียนได้
3. หากตรวจสอบพบว่าเลขประจำตัวประชาชนที่กรอกไม่ตรงกับเลขประจำตัวประชาชนของผู้ร้อง จะถือว่าเป็นการแจ้งเบาะแสให้ทราบเท่านั้น
ทั้งนี้ ท่านสามารถร้องร้อนผ่านช่องทางต่างๆได้ดังนี้
1. กระดานรับร้องเรียน
2. ทาง e-mail: ppd@oic.or.th
3. ที่สำนักงาน คปภ. โดยตรง
ติดต่อ/ร้องเรียน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
ที่อยู่ : 22/79 อาคาร สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ชั้น 5 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0-2515-3999 โทรสาร. 0-2515-3970 **********
-------------------------------------------------------------------------
การประกันชีวิต คืออะไร
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
การประกันชีวิต เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่าย ให้แก่ผู้ได้รับภัย
การประกันชีวิต แยกออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1.ประเภทสามัญ เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ในการพิจารณารับประกันชีวิตอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจสุขภาพ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท และมีการชำระเบี้ยประกันภัยเป็นรายปี, ราย 6 เดือน, ราย 3 เดือน หรือรายเดือน
2. ประเภทอุตสาหกรรม เป็นการประกันชีวิตที่มีจำนวนเงินเอาประกันภัยต่ำ โดยทั่วไปตั้งแต่ 10,000 - 30,000 บาท เหมาะสำหรับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ การชำระเบี้ยประกันภัยจะชำระเป็นรายเดือน และไม่มีการตรวจสุขภาพ ฉะนั้นจึงมีระยะเวลารอคอย คือ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บตามธรรมชาติ บริษัทจะไม่จ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้ แต่จะคืนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ชำระมาแล้วทั้งหมด
3. ประเภทกลุ่ม เป็นการประกันชีวิตที่กรมธรรม์หนึ่งจะมีผู้เอาประกันชีวิตร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ส่วนมากจะเป็นกลุ่มของพนักงานบริษัท ในการพิจารณารับประกันอาจจะมีการตรวจสุขภาพหรือไม่ตรวจก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัท การประกันชีวิตกลุ่มนี้อัตราเบี้ยประกันชีวิตจะต่ำกว่าประเภทสามัญและประเภท อุตสาหกรรม
แบบของการประกันชีวิต
การประกันชีวิตมีมากมายหลายแบบ แต่ละแบบจะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์แตกต่างกันออกไป
แบบการประกันชีวิตพื้นฐานมีอยู่ 4 แบบคือ
1. แบบตลอดชีพ เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้เพื่อจัดหาเงินทุนสำหรับจุนเจือ บุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าทำศพ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น
2. แบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกัน ภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด
3. แบบชั่วระยะเวลา เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอา ประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง การเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่น ๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา
4. แบบเงินได้ประจำ เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอา ประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ
ประโยชน์ของการทำประกันชีวิต
1.ด้านการออม
ลักษณะการออมของการทำประกันภัยนั้นจะเป็นในลักษณะแบบกึ่งบังคับ โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกัน อย่างสม่ำเสมอ และหากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนครบตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ ก็จะได้เงินคืนตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือออมเงินเพื่อไว้ใช้ยามชรา หรือออมไว้เพื่อเก็บเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลาน ทั้งนี้การออมวิธีนี้ไม่สามารถถอนเงิน ในลักษณะของการฝากเงินได้ แต่สามารถเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งมูลค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ที่ได้จะถูกหักค่าธรรมเนียมในการเวนคืนจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เพราะการทำประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว
2.ชีวิตของผู้เอาประกันภัย
การประกันชีวิตสามารถช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้ ในกรณีการทำประกันคุ้มครองการเจ็บป่วย หรือการประกันอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันภัยจะได้เงินทดแทนเพื่อใช้ในการเลี้ยงชีพในกรณีทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงได้
3.ด้านการให้ความคุ้มครองและบรรเทาความเดือนร้อนให้กับผู้ที่อยู่ในอุปการะคุณ
การทำประกันชีวิตจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องการเงิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของครอบครัว อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของบุคคลใดบุคคลหนึ่งในครอบครัว
4.ด้านการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เนื่องจากรัฐบาลได้ให้การส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ทำประกันชีวิตก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่า ลดหย่อนใน การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับแบบทั่วไป และ 200,000 บาทสำหรับ แบบบำนาญ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาสนใจการทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคงในชีวิต
5.ด้านอื่นๆ
การทำประกันชีวิตเปรียบเสมือนการเตรียมเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อกรมธรรม์ครบกำหนดระยะเวลาหนึ่ง ก็จะมีมูลค่าเงินสด
หากผู้เอาประกันภัยมีความจำเป็นทางการเงินก็สามารถขอกู้เงินจำนวนหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไปใช้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้
ขั้นตอนดำเนินการ
1. ติดต่อบริษัทประกันชีวิตได้โดยตรงหรือผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัย
2. เลือกแบบประกันชีวิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ
3. วงเงินเอาประกันภัยที่ต้องการ โดยพิจารณาประกอบกับรายได้ประจำที่ได้รับ และกำลังความสามารถในการส่งเบี้ยประกันภัย
4. กรอก รายละเอียดเกี่ยวกับตัวท่านในแบบคำขอเอาประกันชีวิต โดยแถลงความจริงทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการรักษาพยาบาลและคำแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะการปิดบังในสาระสำคัญเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ไม่ได้รับความคุ้มครองตาม กรมธรรม์
5. ใน กรณีที่ตัวแทนเป็นผู้กรอกแบบคำขอเอาประกันชีวิตแทนท่าน ให้ตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงชื่อในแบบคำขอเมื่อได้รับกรมธรรม์ ควรตรวจสอบความถูกต้อง หากพบข้อมูลที่ผิด เช่น ชื่อผู้รับประโยชน์หรือชื่อผู้เอาประกันภัยผิดพลาด ฯลฯ ให้ทักท้วงบริษัทเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง
6. จ่าย ค่าเบี้ยประกันชีวิตตามกำหนดทุกครั้ง โดยติดต่อชำระที่บริษัท สาขา หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือผ่านธนาคารในกรณีชำระผ่านตัวแทนของบริษัท ให้เรียกใบเสร็จรับเงินตามแบบพิมพ์ของบริษัทเก็บไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง
7.แจ้งให้ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุชื่อในกรมธรรม์ หรือบุคคลในครอบครัวทราบ ถึงการทำประกันชีวิต และสถานที่เก็บกรมธรรม์
*****8. ติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สำนักงาน คปภ.เขต สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทุกครั้งที่มีปัญหา*****
ที่มา
http://www.oic.or.th/th/consumer/fund/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95/%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99ที่มา
http://www.oic.or.th/th/consumer/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95#1 #ประกันชีวิต
#ร้องเรียนผ่านคปภ.
#สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
#สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
#สินเชื่อRefinance
#ธนาคารพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ