เครดิตบูโร จับตาบัญชีที่เริ่มค้างชำระ 1.1 ล้านบัญชี
-http://money.kapook.com/view92222.html-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
เครดิตบูโร เตรียมจับตาจำนวนบัญชีที่เริ่มค้างชำระ 1.1 ล้านบัญชี เพิ่มจากปี 56 ประมาณ 29% คาดแนวโน้มหนี้เสีย NPL น่าจะลดลง
วันนี้ (2 กรกฎาคม 2557) นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวถึงแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนว่า ในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจับตาจำนวนบัญชีที่เริ่มค้างชำระแต่ไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) โดยในไตรมาสแรกมีจำนวนบัญชีที่เริ่มค้างชำระอยู่ที่ 1.1 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 29% ในไตรมาส 2 นี้ คาดว่าแนวโน้มเอ็นพีแอล น่าจะลดลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอดูข้อมูลไตรมาส 2 ที่เพิ่งสิ้นสุดลงว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการสำรวจการให้เงินกู้ยืมภาคครัวเรือนของสถาบันการเงินและบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ไตรมาสแรกปี 2557 พบว่า มีมูลค่าคงค้างรวมทั้งสิ้น 9,868,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 888,846 แสนล้านบาท หรือ 9.89% ส่วนการให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ในหมวดสถาบันรับฝากเงิน ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสถาบันรับฝากเงินอื่น ๆ ซึ่งมียอดคงค้างการให้สินเชื่อในไตรมาสแรกปีนี้รวม 8,591,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 748,635 ล้านบาท หรือ 9.54%
กลุ่มที่มีการเพิ่มขึ้นของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนมากสุดในหมวดสถาบันรับฝากเงิน ได้แก่
- กลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยไตรมาสแรกมีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมอยู่ที่ 4,191,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 429,611 ล้านบาท หรือ 11.42%
- สหกรณ์ออมทรัพย์ มีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืม ณ สิ้นไตรมาสแรกที่ 1,501,641 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 145,797 ล้านบาท หรือ 10.75%
- บริษัทเงินทุน มียอดคงค้างการให้กู้ยืมในไตรมาสแรกอยู่ที่ 2,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 8.79% ส่วนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มียอดคงค้างการให้กู้ยืมอยู่ที่ 2,896,122 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 6.35%
- กลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง สินเชื่อส่วนบุคคล มียอดคงค้างการให้กู้ยืมไตรมาสแรกที่ 1,276,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 140,211 ล้านบาท หรือ 12.34%
กลุ่มที่มีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นมากสุด ได้แก่
- กลุ่มสถาบันการเงินอื่น เช่น การทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งมีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมในไตรมาสแรกปี 2557 ที่ 9,176 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 2,544 ล้านบาท หรือ 38.35%
- กลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยไตรมาสแรกมีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมอยู่ที่ 1,057,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 177,227 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20.12%
- บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต มีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนในไตรมาสแรกที่ 81,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 8,961 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.38%
กลุ่มที่มีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนลดลงมากสุด ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน โดยไตรมาสแรกปี 2557 มีมูลค่าคงค้างอยู่ที่ 25,413 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 จำนวน 26,040 ล้านบาท หรือ 50.6%
- กลุ่มโรงรับจำนำ ซึ่งมีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืมในไตรมาสแรกปี 2557 ที่ 54,239 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 จำนวน 14,010 ล้านบาท หรือ 20.52%
- กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ มีมูลค่าคงค้างการให้กู้ยืม ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2557 อยู่ที่ 48,361 ล้านบาท ลดลงจากปี 2556 จำนวน 8,471 ล้านบาท หรือ 14.9%
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ระบุในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้น สะท้อนจากการชำระหนี้ที่มีแนวโน้มลดลง การขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือนปรับชะลอลงต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจาก 14.1% ในไตรมาส 3 ปี 2556 มาอยู่ที่ 11.4% ในไตรมาส 4 ปี 2556 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระมัดระวังการใช้จ่ายและการก่อหนี้ใหม่และสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ระดับการก่อหนี้ใหม่ลดลง
นอกจากนี้ ยังพบว่า สภาพคล่องของภาคครัวเรือนโดยรวมทรงตัวจากช่วงก่อนหน้าสะท้อนจากสัดส่วนสินทรัพย์ทางการเงินต่อหนี้สินของภาคครัวเรือน ณ สิ้นปี 2556 ที่ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2 เท่า ซึ่งยังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงระยะสั้นจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
-http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/research/20140702/591027/%C3%A0%C2%A4%C3%B4%D4%B5%C2%BA%C3%99%C3%A2%C3%A8%D1%BA%C2%B5%C3%92%CB%B9%C3%95%C3%A9%C2%A4%C3%A9%D2%A7%C2%AA%C3%93%C3%83%C3%90%C3%A0%C2%BE%C3%94%C3%A8%C3%8130.html-