ดอกเบี้ยนโยบาย คืออะไร ... รู้เอาไว้ก็ได้ประโยชน์
-
-http://hilight.kapook.com/view/86668-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และ ดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน
งัดข้อกันมานานพอสมควร ในที่สุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ยอมถอย 1 ก้าว ด้วยการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.75% เหลือเป็น 2.50% ซึ่งถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน หลังจากก่อนหน้านี้ กนง. ถูก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทุ้งดัง ๆ ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายอยู่หลายต่อหลายครั้ง เพื่อชะลอการไหลเข้าของกระแสเงินลงทุนต่างชาติ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลายคนที่ได้ยินข่าวนี้ และไม่ได้สนใจเรื่องข่าวเศรษฐกิจมากนักอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจว่า "ดอกเบี้ยนโยบาย" คืออะไร แล้วการลดดอกเบี้ยนโยบายลงนั้นมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร กระปุกดอทคอม ขออธิบายคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ
ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และเป็นเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน โดยมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลดอกเบี้ยนโยบายให้เป็นไปภายใต้กรอบของเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 3% และเพื่อที่จะควบคุมปริมาณเงินในระบบให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องใช้ "ดอกเบี้ยนโยบาย" ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาดว่าควรอยู่ที่เท่าไร ในตามแต่ละสถานการณ์
สำหรับประเทศไทย ใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้เพื่อควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร RP (repurchase) ซึ่งในปัจจุบันนี้ ใช้อัตราดอกเบี้ยการซื้อคืนพันธบัตรอายุ 1 วัน (R/P 1 วัน) เป็นตัวแทนดอกเบี้ยนโยบาย
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเหลือก็จะนำเงินไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกู้ยืมเป็นระยะเวลา 1 วัน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะโอนพันธบัตรภาครัฐให้กับสถาบันการ เงินเพื่อเป็นหลักประกัน โดยธนาคารประเทศไทยสัญญาว่าจะ "รับซื้อคืนพันธบัตร" ที่ใช้เป็นหลักประกัน กลับมาจากสถาบันการเงินพร้อมทั้งจ่ายดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลา 1 วันให้ โดยดอกเบี้ยนั้นก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยนั่นเอง
ทีนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น สัมพันธ์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร?
ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนว่า "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" กับ "อัตราผลตอบแทน" อันหมายถึงดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้านั้น เป็นคนละตัวกัน แต่โดยปกติแล้ว เมื่อดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็จะปรับดอกเบี้ยทั้งเงินฝาก เงินกู้ หรือแม้แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรเป็นไปในทิศทางเดียวกับดอกเบี้ยนโยบายด้วย
หากมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แสดงว่า ช่วงนั้นเศรษฐกิจเติบโต ราคาสินค้าสูงขึ้น จนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่กำลังซื้อของประชาชนเริ่มลดลง (คนมีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยชิ้นลง เพราะสินค้าแพงขึ้น) ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงต้องพยายามลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้ต่ำลง ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร เป็นการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไปปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ลูกค้าด้วย
เมื่อธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ย ก็จะจูงใจให้ประชาชนนำเงินมาฝากมากขึ้น ออมเงินมากขึ้น ธนาคารก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น และเมื่อธนาคารขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยซึ่งเป็นกำไรของธนาคารเอาไว้ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้นี้ก็จะทำให้คนกู้ยืมน้อยลงด้วย หันมาออมมากขึ้น เป็นเหตุให้การใช้จ่ายในครัวเรือนลดลง การลงทุนลดลง ช่วยชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อลดลงได้
ในทางกลับกัน หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แสดงว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจเริ่มหดตัว เงินเฟ้อต่ำลง ประชาชนไม่ค่อยใช้จ่าย ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ลง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและภาคเอกชนถอนเงินไปใช้จ่าย และลงทุนมากขึ้น (เพราะฝากเงินไว้กับธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยนิดเดียว) เป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ยนโยบาย เช่น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ดุลการค้า ดุลการคลัง กระแสเงินทุนไหลเข้าออก การเมือง ฯลฯ
ดังเช่น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพยายามให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพราะเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยของไทยที่สูงไปสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจนำเงินออมมาลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนของไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้น และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
นอกจากนี้ กระแสเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าไทยยังทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ส่งออกส่งสินค้าออกได้ยากขึ้น เพราะต่างประเทศจะมองว่าสินค้าของไทยมีราคาแพงขึ้นนั่นเอง ส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ ที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นเพราะได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอยู่กลาย ๆ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก -http://news.voicetv.co.th/thailand/62739.html-
, -thaimutualfundnews.com-, -thaibma.or.th-, -fundmanagertalk.com-
http://hilight.kapook.com/view/86668