สังเกตก่อนใช้...ตู้เอทีเอ็มปลอดภัย ไร้เครื่องสกิมเมอร์ฉกข้อมูล
-http://hilight.kapook.com/view/93328-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวมิจฉาชีพลอบติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ในตู้เอทีเอ็ม เพื่อขโมยข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มของผู้ใช้งานแล้วกดเงินออกไปใช้เอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเงินไปฟรี ๆ อย่างน่าเจ็บใจ แต่ถ้าเราลองสังเกตดูตู้เอทีเอ็มที่เราจะเข้าไปใช้ทำธุรกรรมสักนิด ก็อาจพอช่วยป้องกันไม่ให้เราตกเป็นเหยื่อของกลุ่มโจรไฮเทคเป็นรายต่อไปได้ แน่นอนว่ากระปุกดอทคอมมีคำแนะนำมาฝากกันด้วย
ก่อนอื่นมารู้จักเครื่องที่มีชื่อว่า "สกิมเมอร์" (Skimmer) กันก่อน
สกิมเมอร์ เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็ก ๆ ที่คนร้ายสร้างขึ้นด้วยการนำแถบแม่เหล็กวงจรถอดรหัส และวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน สามารถพกพาได้ และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ จากนั้นนำไปติดตั้งไว้ที่ช่องรูดบัตรของตู้เอทีเอ็ม
เมื่อมีคนนำบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิตมารูด หรือสอดบัตรเข้าช่องเสียบบัตร แล้วกดรหัส ตัวแถบแม่เหล็กของสกิมเมอร์ก็จะบันทึกข้อมูลแล้วส่งไปเก็บไว้ในหน่วยความจำ หรืออาจส่งข้อมูลต่อไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพเลยก็ได้ จากนั้นหน้าจอเอทีเอ็มอาจแสดงข้อความว่า "ขออภัย เครื่องไม่สามารถทำรายการได้" หรือ "ท่านทำรายการเรียบร้อยแล้ว กรุณารับเงิน" ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องอ่านบัตรปลอมที่ใช้
เมื่อมิจฉาชีพขโมยข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มและรหัสผ่านไปแล้ว ก็จะนำข้อมูลนั้นไปสร้างบัตรปลอมที่มีข้อมูลในแถบแม่เหล็กเหมือนกับบัตรจริง ซึ่งสามารถนำไปกดเงิน หรือรูดซื้อสินค้าได้เหมือนบัตรจริงทุกประการ ทั้งนี้ คนร้ายบางคนอาจไม่นำข้อมูลไปทำบัตรปลอม แต่นำข้อมูลไปขายต่อในอินเทอร์เน็ตอีกทอดก็มี
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าตู้เอทีเอ็มตู้ไหนปลอดภัย ไร้สกิมเมอร์?
เนื่องจากมิจฉาชีพมักซ่อนเครื่องสกิมเมอร์ไว้อย่างแนบเนียนมาก ดังนั้น การตรวจสอบอาจทำได้ไม่ง่ายนัก แต่อย่างน้อยก็มีแนวทางที่จะช่วยให้เราสังเกตเบื้องต้น เพื่อดูว่าตู้เอทีเอ็มนั้นเสี่ยงต่อการใช้งานหรือไม่ นั่นก็คือ
ตรวจดูสิ่งผิดปกติรอบตู้เอทีเอ็มก่อนใช้งาน เพื่อดูว่ามีกล้องตัวเล็กซุกซ่อนอยู่หรือไม่ โดยมิจฉาชีพอาจติดกล่องใส่ใบปลิวไว้บริเวณเครื่อง เพื่อใช้ซ่อนกล้อง ถ้าพบเห็นกล่องใส่ใบปลิวแปลก ๆ ไม่ควรใช้เครื่องดังกล่าว และควรแจ้งให้ธนาคารทราบทันที
ตรวจสอบบริเวณที่สอดบัตร หรือตรงแป้นกดตัวเลขว่ามีอุปกรณ์แปลกปลอมติดอยู่หรือไม่ หากสังเกตเห็นอุปกรณ์แปลกปลอม ให้รีบแจ้งให้ธนาคารทราบ
ลองขยับหรือโยกอุปกรณ์ต่าง ๆ ของตู้เอทีเอ็มดู เพราะหากมีตัวสกิมเมอร์ติดอยู่ การโยกอาจจะทำให้ตัวสกิมเมอร์หลุดออกมาได้ เนื่องจากปกติแล้ว คนร้ายจะไม่ติดตั้งเครื่องนี้ไว้อย่างแน่นหนาเท่าใดนัก เพราะต้องถอดเครื่องสกิมเมอร์ไปใช้ติดตั้งตู้อื่น ๆ ด้วย
หากเครื่องเอทีเอ็มเกิดขัดข้อง และบัตรติดอยู่ในเครื่อง ให้รีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัตรทันที เพราะการที่เครื่องขัดข้องอาจเป็นเล่ห์กลของคนร้ายที่ใช้เศษไม้ หรือไม้จิ้มฟันใส่เข้าไปในช่องอ่านบัตร เพื่อให้บัตรของผู้ใช้บริการติดอยู่ที่เครื่อง แล้วจะทำทีเข้ามาช่วยเหลือกดรหัสให้
หากใส่บัตรไปในเครื่องแล้วไม่มีไฟกะพริบรอบช่องเสียบบัตร ควรเปลี่ยนไปใช้ตู้อื่น เพราะตู้นั้นอาจมีการติดตัวสกิมเมอร์ไว้ดูดข้อมูล
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ลองมาดูวิธีการใช้เครื่องเอทีเอ็มอย่างปลอดภัยกัน โดยเราควรจะต้อง...
ตรวจสอบบริเวณเครื่องเอทีเอ็มที่จะเข้าไปใช้ว่ามีบุคคลต้องสงสัยอยู่หรือไม่ หากพบ ให้เปลี่ยนไปใช้เครื่องอื่น
ใช้มือบังแป้นกดรหัสส่วนตัวขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้ใครที่อยู่ข้าง ๆ หรือกล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้มองเห็นรหัสส่วนตัวของเรา
ใช้ลำตัวบังหน้าจอ ยืนประชิดกับตัวเครื่อง ขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้คนที่ต่อแถวอยู่ข้างหลังมองเห็น
พยายามใช้เครื่องเอทีเอ็มเครื่องที่เคยใช้เป็นประจำ เพราะหากเกิดความผิดปกติขึ้นเราจะสังเกตเห็นทันที
พยายามเลือกใช้เครื่องเอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ในที่ปลอดภัย มีคนพลุกพล่าน ในที่มีแสงสว่าง ไม่ใช่ที่เปลี่ยว เช่น ในสาขาของธนาคาร หรือตามร้านค้าที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพราะสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านจะทำให้คนร้ายยากที่จะนำกล้องมาติดตั้งเพื่อแอบดูรหัสส่วนตัว
หากพบความผิดปกติของเครื่อง ให้กดปุ่ม "ยกเลิก" เพื่อยุติการทำธุรกรรมนั้นทันที แล้วเปลี่ยนไปใช้เครื่องอื่น
หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเอทีเอ็มที่มีข้อความ หรือป้ายที่แจ้งเตือนว่า ข้อความแนะนำการใช้เครื่องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อความถูกติดเหนือช่องรับบัตร เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายที่จะติดข้อความหรือป้ายประกาศใด ๆ บนเครื่อง โดยเฉพาะกรณีที่มีการดัดแปลงเครื่อง
เก็บสลิปข้อมูลการใช้บัตรเอทีเอ็มทุกครั้ง เพื่อไว้ใช้เปรียบเทียบกับรายการเดินบัญชีประจำเดือนของคุณ
ไม่ควรรีบร้อนทำธุรกรรม ควรเก็บบัตรและธนบัตรเข้ากระเป๋าเงิน หรือกระเป๋าถือให้เรียบร้อยก่อนเดินออกจากบริเวณเครื่อง
หลีกเลี่ยงการใช้รหัสบัตรเอทีเอ็มที่เดาง่าย เช่น เลขตอง เลขสวย เลขที่เรียงกัน รวมทั้งเลขที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขวันเกิด ทะเบียนรถ อายุ ฯลฯ ควรตั้งรหัสให้เดายาก โดยทั้ง 4 หลัก ไม่ควรจะเป็นเลขซ้ำกัน เพื่อให้การสุ่มหมายเลขรหัสบัตรทำได้ยากขึ้น
ควรเปลี่ยนรหัสบัตรเอทีเอ็มเป็นประจำ และให้รีบเปลี่ยนรหัสบัตรทันทีเมื่อมีบุคคลอื่นทราบรหัสบัตรของคุณ เพราะคุณไม่ควรให้ใครรู้รหัสเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือตำรวจ
ควรจำกัดวงเงินการถอนในแต่ละวันไว้ โดยแจ้งไปยังธนาคาร เพื่อที่หากมิจฉาชีพได้นำบัตร หรือรหัสของคุณไปกด จะยังคงรักษาเงินไว้ได้บางส่วน
ลองจดจำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ จะได้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพในยุคไอที !
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เดลินิวส์
-http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=193379-
, ธนาคารกรุงเทพ
-http://www.bangkokbank.com/BangkokBankThai/WebServices/YourSecurityFirst/Howyouprotectyourself/Pages/HowtosafeguardyoursecuritywhenusingATM.aspx-
, ธนาคารกสิกรไทย
-http://www.kasikornbank.com/TH/ServicesChannel/SearchServiceChannel/ElectronicMachines/Pages/KATM.aspx-
-------------------------------------------------------------------------
แนะนำวิธีสังเกตตู้เอทีเอ็มที่ต้องสงสัยว่าจะมีเครื่องสกิมเมอร์ติดตั้งอยู่ เพื่อเฝ้าระวังภัยก่อนเงินของเราจะเกิดการสูญหาย
วันศุกร์ 8 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11:24 น.
-http://www.dailynews.co.th/Content.do?contentId=193379-
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ภายหลังจากมีคนร้ายชาวต่างชาติติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ในตู้เอทีเอ็ม ก่อนลักข้อมูลบัตรไปกดเงินจนเสียหายไปเป็นเงินหลายแสน แต่ยังมีหลายคนที่ไม่รู้จักเจ้าเครื่องดังกล่าวว่ามีวิธีการทำงานอย่างไร จึงเสนอข้อมูลไว้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งวิธีสังเกตุสิ่งผิดปกติก่อนจะเสียบบัตรที่ตู้เอทีเอ็ม
วิธีสังเกตในการใช้บริการตู้เอทีเอ็ม คือก่อนใช้บริการทุกครั้ง ควรตรวจสิ่งดูผิดปกติ เช่น มีกล่องประชาสัมพันธ์ กล่องใส่ใบปลิว ติดที่หน้าตู้ ซึ่งเป็นการโฆษณาอื่นที่ไม่ใช่ของธนาคารหรือไม่ เพราะอาจจะมีกล้องตัวเล็กถูกซุกซ่อนไว้แอบถ่ายอยู่ จากนั้นก็ลองขยับหรือโยกอุปกรณ์ของตู้ได้ ถ้าไม่เป็นมาตรฐานของธนาคารมันจะหลุดออกมา เนื่องจากปกติมิจฉาชีพจะไม่ติดตั้งให้แน่นแบบถาวร เนื่องจากต้องถอดเครื่องสกิมเมอร์ไปที่ตู้อื่นด้วย
แต่ผู้มาใช้บริการบางรายอาจจะมาทำธุรกรรมที่ตู้ด้วยความเร่งรีบจนลืมระมัดระวัง ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดที่พอจะช่วยสังเกตุถึงความผิดปกติได้คือ ตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคาร ก่อนที่จะเสียบบัตรจะต้องมีไฟกะพริบล้อมรอบช่องเสียบบัตรทุกครั้ง ดังนั้นถ้าไม่มีไฟกะพริบปรากฏให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีเครื่องดูดข้อมูล จึงควรเปลี่ยนไปใช้ตู้อื่น เพื่อความปลอดภัย
สำหรับ เครื่องสกิมเมอร์ (skimmer เครื่องดูดหรือกวาดข้อมูล) นั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คนร้ายสร้างขึ้น โดยนำเครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก วงจรถอดรหัส และวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน สกิมเมอร์มีหลายขนาดตั้งแต่เท่ากับกล่องใส่รองเท้าไปจนถึงขนาดเท่าซองบุหรี่ที่คนร้ายซ่อนไว้ในอุ้งมือได้ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่จึงสามารถพกพาได้สะดวก เมื่อนำบัตรเครดิต (หรือบัตรเดบิตเช่นบัตร ATM) มารูด สกิมเมอร์จะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กและนำไปเก็บไว้ในหน่วยความจำ สกิมเมอร์ที่มีหน่วยความจำน้อยจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตได้ 50 ใบ ส่วนสกิมเมอร์ที่มีหน่วยความจำมากอาจเก็บข้อมูลได้หลายหมื่นใบ และเมื่อลักลอบดูดข้อมูลจากบัตรเครดิตไปแล้ว คนร้ายก็จะนำไปสร้างบัตรปลอมซึ่งมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า “บัตรสี” เป็นบัตรเครดิตปลอมที่มีสี มีลวดลาย และมีตัวพิมพ์นูนเหมือนของจริงทุกอย่าง รวมทั้งมีข้อมูลในแถบแม่เหล็กอย่างถูกต้องอีกด้วย บัตรแบบนี้สามารถนำไปใช้ได้ทุกแห่งเช่นเดียวกับบัตรจริง บัตรปลอมอีกแบบเรียกว่า “บัตรขาว” เป็นบัตรพลาสติกสีขาวมีเพียงแถบแม่เหล็กเก็บข้อมูล ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปใช้ในหลายๆ แหล่ง เช่นนำไปกดเงินสดจากตู้ ATM หรือนำไปใช้กับร้านค้าที่ทุจริต คนร้ายบางคนไม่ทำบัตรปลอม แต่นำข้อมูลบัตรของเราไปขายในอินเตอร์เน็ตก็มี