4 เคล็ดลับเรื่องเงิน ถ้าไม่อยากจน ต้องอ่าน !
-http://money.kapook.com/view77192.html-
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก คุณมาม่ากับปลากระป๋อง, creativeshooter.com
เงิน คือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ที่แทบจะกลายเป็นปัจจัยหลักมากกว่าสิ่งใด ๆ ไปแล้ว เพราะแม้กระทั่งปัจจัย 4 อย่าง อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรค ต่างก็ต้องใช้เงินซื้อมาทั้งสิ้น ดังนั้นการใช้เงินและเก็บเงินให้เป็น จึงเป็นเคล็ดลับชั้นเลิศที่จะทำให้คุณอยู่ห่างไกลจากความจน และเข้าใกล้ความร่ำรวยมากขึ้นได้
คุณมาม่ากับปลากระป๋อง สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ก็คืออีกหนึ่งคนที่มีเคล็ดลับเรื่องเงิน จากการปลูกฝังของครอบครัวมาหลายสิบปี และก็เต็มใจจะมาเปิดเผยเคล็ดลับดี ๆ เหล่านี้ให้ทุกคนได้นำไปใช้กัน ส่วนเคล็ดลับเรื่องเงินที่ว่าจะมีอะไรบ้าง เราลองไปอ่านดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
4 เคล็ดลับที่ครอบครัวสอนผมเรื่อง "เงิน"
ปัญหาเรื่องเงิน เป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่คนทุกผู้ทุกนามต้องเจอ หนึ่งในต้นตอสำคัญของปัญหาเรื่องเงินคือการ "การใช้เงินเกินตัว"
ซึ่งการใช้เงินเกินตัวนี้จะเป็นนิสัยที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านการเงินเรื้อรังได้ในอนาคต
เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ผมมองว่าต้องเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ให้รู้ถึงความสำคัญของมัน ในบทนี้ผมจึงขอแชร์ "เคล็ดลับ" ของตลอดหลายสิบปีที่ครอบครัวผมได้สอนผมไว้ เพื่อให้ผมใช้เงินอย่างเหมาะสม … ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์เก็บไปใช้ได้เลยครับ
1. อยู่กับความจริง
ครอบครัวบางครอบครัวตามใจเด็กมาก ด้วยความรักความเอ็นดูหรืออะไรก็ตามแต่ จึงให้เงินไว้ใช้จ่ายเงินแบบเกินพอดีตั้งแต่เด็ก โดยที่มันมากเกินความจำเป็น ซึ่งในบางทีมันมากเกินกว่าฐานะที่ครอบครัวมี และไม่อยู่กับความจริง ข้อนี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่สอนให้รู้แต่เด็ก รอจนรู้เองตอนโตบางที่อาจสายเกินไป
เหตุการณ์สำคัญของครอบครัวผมที่ผมจะยกมาเรื่องนี้ ได้สอนให้เราอยู่กับความจริง ไม่ฟุ้งเฟ้อ เพราะ อะไรก็ไม่แน่นอน … และท่านบอกให้ทุกคนในครอบครัวรับรู้
บ้านผมเป็นครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่เพื่อการศึกษาที่ดีของผม พวกท่านจึงส่งผมเรียนอนุบาลและประถมในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อนได้เงินค่าขนมเยอะ ผมจึงไปร้องขอเพิ่มบ้าง ในท้ายที่สุดแม่ก็ยอมให้เพิ่ม ทุกอย่างเหมือนจะราบรื่น …. แต่แล้วมันก็เปลี่ยนไปเมื่อ …ครอบครัวเรามีหนี้หลักล้านบาทที่เกิดจากความผิดพลาดจนสิ้นเนื้อประดาตัว
พวกท่านเลือกที่จะบอกความจริงกับผม ให้รับรู้ถึงปัญหาการเงินที่เกิดขึ้น ถึงผมจะยังเด็กมากแต่ผมก็เข้าใจว่ามันสถานการณ์สาหัสเพียงไหน
เงินค่าขนมผมได้น้อยลงมากสวนทางกับน้ำตาของแม่ที่ไหนออกมามากขึ้น ๆ ทุกครั้งที่ยื่นเงินให้ผมแล้วบอกให้ตั้งใจเรียน ซึ่งผมจำมันได้แม่นและรู้สึกได้เลยว่าเงินมีค่ามากแค่ไหนในยามเราไม่มีมัน
ผมยังคงเรียนที่เดิมแต่ค่าขนมถูกลดลงไปมากซึ่งผมก็เข้าใจเพราะรู้สึกได้ว่าเรากำลังลำบาก หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมาครอบครัวเราใช้เงินอย่างรอบครอบและตามสถานะจริงตลอดมา
2. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
เด็ก ๆ จะซึมซับ กับสิ่งที่พ่อกับแม่ทำเป็นอย่างดี บอกอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ถ้าตัวเองทำไม่ได้ บอกปาว ๆ ว่าให้ลูกขยันแต่ ตัวเองกลับนั่งดูแต่ทีวีทุกวี่วัน บอกให้ประหยัดแต่ตัวกลับฟุ่มเฟือย ประเด็นนี้อาจจะเข้าสุภาษิตไทยที่ว่า "ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น" พ่อแม่เป็นแบบไหนลูกก็ไม่แคล้ว
ความขยัน ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม สิ่งเหล่านี้มันค่อย ๆ ซึมเข้ามาจนไหลอยู่ในตัวผมจำนวนมาก พวกท่านทำให้ดูจนแทบไม่ต้องสอนกันเลย เพราะ พวกท่านทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาปกติ "พ่อคือสุดยอดไอดอลนักออมผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการหยอดกระปุกออมสินมากในสายตาของผม"
สมัยยังเด็ก ผมกับพ่อเราจะมีกระปุกออมสินคนละตัว ของพ่อเป็นกระปุกหมูที่หน้าตาเหมือนม้าที่ตัวใหญ่มาก ของผมเป็นกระปุกหมูตัวน้อยในแต่ละวันเราจะมาหยอดกระปุกพร้อมกัน พ่อหยอดกระปุกม้ายี่สิบ ผมหยอดกระปุกหมูสองบาท พ่อเติมให้อีกสองบาท พอมันเต็มพ่อก็จะพาผมไปธนาคารออมสินเพื่อไปฝากเงินด้วยกัน แล้วก็จะได้ของขวัญจากธนาคารด้วย
กระปุกหมูออมสินของพ่อเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของผม เพราะเมื่อแกะมันออกมาเมื่อใด มันจะมีเหรียญจำนวนมาก และมีแบงก์กองเป็นภูเขาเลากา เมื่อผมช่วยนับผมจะได้ค่านับด้วย กระปุกหมูของพ่อตัวนี้น่าจะเป็นพี่ผม เพราะตั้งแต่ผมจำความได้ผมก็เห็นมันตั้งอยู่ในบ้านแล้ว กว่าจะลากออกมาถ่ายรูปได้ทุลักทุเลพอสมควรเพราะหนักมาก พ่อผมยังคงหยอดกระปุกนี้อยู่เดิม กระปุกออมสินหมูแดงยักษ์ของพ่อเมื่อเทียบกับผลส้ม
3. เงินทุกบาททุกสตางค์ต้องมีที่มาที่ไป
ผมสอบติดโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด วันแรก ๆ ไปโรงเรียน แม่ผมให้การบ้านมาข้อหนึ่ง ท่านถามผมว่า … "ไปโรงเรียนต้องใช้เงินวันละกี่บาท?" คำตอบต้องมีเหตุผลและต้องมีที่มา หลายวันผ่านไปผมมาส่งการบ้านพร้อมกับรายละเอียดที่จำเป็น
ค่ารถเมล์ ค่าเดินทาง
ค่าอาหารเช้า
ค่าอาหารกลางวัน
จิปาถะต่อสัปดาห์
จำได้ว่าคุณแม่พอใจกับรายการของผม และถามผมกลับมาว่า "ค่าข้าวนี่พิเศษหรือธรรมดา?" ผมตอบว่าธรรมดา แม่บอกผมว่า "เราเป็นคนกินจุงั้นเดี๋ยวแม่เพิ่มให้อีกหน่อยไว้กินพิเศษ"
พอขึ้น ม.ปลาย ก็ขยับค่าขนมอีกครั้ง ทำการบ้านใหม่ ผมสอบติดมหาวิทยาลัยก็ทำแบบเดียวกัน ถ้าจำไม่ผิดตอนมหาวิทยาลัย ผมใส่รายละเอียดขอค่าน้ำอัดลมทุกมื้อด้วย จำได้ว่าแม่ขำมากแต่ก็ให้เพิ่มมาตามที่ขอ ทักษะนี้ที่แม่สอนผม ท่านสอนถึงแก่นว่า "เพียงพอ" และ "จำเป็น" อยู่ตรงไหน
น้องสาวผมคนหนึ่งก็เช่นกัน ตอนนี้เธอเรียน ป.ตรี อยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เธอได้การบ้านแบบเดียวกับที่ผมเคยได้ "ต้องใช้เงินเท่าไหร่ถึงอยู่ได้" เธอก็ร่ายรายการค่าใช้จ่ายออกมา เราก็เห็นสมควรตามนั้น …. (เงินเพื่ออุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน หนังสือทุกชนิดแม่ผมเต็มที่ เท่าไหร่ไม่ว่ากัน เบิกได้ตามใบจริงอ้างอิงตามใบเสร็จ)
4. จัดการเงินของตัวเองให้ดีที่สุด
จัดการกับค่าขนม
หลังจากได้ค่าขนมมาแล้วต้องจัดการเงินของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่มีให้เพิ่ม!!! ถ้าเงินตัวเองเก็บได้เท่าไหร่เหลือเท่าใดเอาไปซื้ออะไรมาว่ากัน ท่านให้สิทธิเต็มที่ ท่านเด็ดขาดเรื่องนี้มาก ถ้าเงินไม่พอจัดการไม่ได้ท่านจะถามถึงที่มาที่ไปว่าเงินไปไหนทันที ถ้าเหลวไหล ฟุ่มเฟือยจะโดนตำหนิทันที …
ถ้าอยากได้อะไรเป็นพิเศษล่ะ … คำตอบ คือ ต้องหาเอง สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยผมจึงสารพัดทำงานพิเศษ เด็กเสิร์ฟร้านกาแฟ แจกใบปลิว สอนพิเศษ ฯลฯ น้องผมผลออกมาก็เหมือนพี่มัน ตอนนี้รับจ็อบทำงานพิเศษอยู่ร้านฟาสฟูดส์ข้างมหาวิทยาลัย ผมถามว่าถ้าให้เงินน้องตามใจเราที่เราอยากให้ได้หรือไม่ น้องจะได้ไม่ลำบาก ให้ได้ครับ แต่ผมจะตอบคำถามนี้อย่างไร … ถ้าต่อไปน้องเรียนจบออกไปทำงาน แต่แล้วได้เงินเดือนน้อยกว่าที่พ่อแม่ให้ล่ะผลจะเป็นอย่างไร?
จัดการกับบัตรเครดิต
นอกจากจัดการเงินสดแล้ว ยังต้องละเว้นบัตรเครดิตด้วย เพราะ บัตรเครดิตมันไม่ใช่เงินของเรา ตอนผมจบเรียนจบใหม่ ๆ แม่ผมเน้นมากเรื่องบัตรเครดิตบอกว่ายังไม่อยากให้ผมมีบัตรเครดิต !!
เมื่อเรียนจบท่านเรียกผมมาคุยเล่าและบอกถึงคุณโทษของบัตรเครดิตให้ผมฟังว่าเป็นอย่างไร มันอันตรายแค่ไหนถ้าไม่มีวินัยทางการเงิน รวมทั้งผลที่จะตามมา มีได้แต่แม่บอกว่ายังไม่ใช่ตอนนี้ ท่านมองออกว่าผมเป็นอย่างไรจึงขอไว้เช่นนั้น ผมทำงานมาก็หลายปี ก็ยังไม่มีบัตรเสียที จนลืมไปเลยว่าเคยอยากมีบัตรเครดิตไว้รูดโก้กับเขา … ครอบครัวผมใช้เงินสดเป็นหลัก บัตรมีไว้ใช้เมื่อเจอสินค้า 0% หรือใช้แทนเงินสด ตอนนี้บ้านผมมีบัตรเครดิต 5 ใบ แม่มี 2 ใบ ภรรยาผมมี 2 ใบ พ่อ 1 ใบ และผมไม่มีบัตรเครดิต
จัดการกับสมบัติและมรดก
ที่ดินและบ้านในสวนผม ถูกนายหน้าทาบทามซื้อทางเป็นเทือก ในราคาที่เย้ายวนใจครั้งหนึ่ง คุณตาบอกลูก ๆ หลาน ๆ พูดลอย ๆ ในโต๊ะทานข้าว เพื่อสอน และเตือนสติลูกหลานในช่วงที่ดินกำลังร้อนแรงนี้ว่า …
"อยากได้อะไร อยากซื้ออะไร ก็เก็บเงินเอาใหม่ สะสมเอาใหม่ เก็บอย่างอดทน … อย่าขายที่ ขายสมบัติที่มี … การขายเพื่อไปซื้อสิ่งที่อยากได้มันไม่ถูก … เพราะถ้าทำอย่างนั้นเดี๋ยวอีกหน่อยก็ไม่เหลือที่ให้อยู่และจะทำมาหากินได้อย่างไร"
สิ่งที่คุณตาบอกนั้นมันชัดเจนกระจ่างแจ้งว่า นอกจากดูแลรักษาเงินทองของตัวเองแล้วยังต้องจัดการดูแลสมบัติที่ทรัพย์สมบัติที่ปู่ย่าตายายทำไว้ให้ด้วย พร้อมทั้งเตือนสติว่าอย่าขายเอามรดกของบรรพบุรุษเพื่อสนองความต้องการส่วนตน …
นี่คือสี่เคล็ดลับที่ครอบครัวบอกสอนเรื่องเงินแก่ผม ท่านสอนแก่ผมให้ผมใช้เงินอย่างระมัดระวัง… มีแบบอย่างที่ดี รู้จักคำว่าพอดี มีเหตุผลที่ดี และ รู้จักรักษาสิ่งที่ตัวเองมี
สุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเคล็ดวิชาเล็ก ๆ น้อยของครอบครัวผมเหล่านี้ จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ทุก ๆ ท่านได้บ้างนะครับ …[^_^]…
ป.ล.
- สามารถติดตามอ่านเรื่องราวงานเขียนของผมได้ในบล็อกนี้นะครับ …
http://goo.gl/aE4zV อ้างอิง ข้อ 1. บอกความจริง และ ข้อ 2. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ตัดมาจากบทเต็มบทนี้ครับ
… รู้สึกตัวอีกที สินทรัพย์จากที่เคยติดลบ กลับทะลุสิบล้าน ไปแล้ว!!!
http://goo.gl/gWTSn ข้อ 4. เรื่องมรดกอ้างอิงจากบทเต็มบทเรื่องอสังหาฯ ในบทนี้ครับ
มีคนมาเสนอซื้อบ้านและที่ดินของผมในราคา 15 ล้าน และ ผมไม่ขาย
http://goo.gl/BlBLK ปัญหาเรื่องการใช้เงินเกินตัวนั้นย่อมก่อให้หนี้สินจำนวนมาก หนี้สินส่วนบุคคลส่งผลย่อมส่งผลถึงครอบครัว และส่งผลถึงประเทศชาติในที่สุด คิดในอีกมุม การดูแลหนี้สินของตัวเองนั้นเป็นการช่วยชาติได้อีกทางหนึ่ง …