อุทาหรณ์ ! สำเนาบัตรประชาชนหลุด ตกเป็นหนี้บัตรเครดิตนับแสนบาท
-http://money.kapook.com/view130334.html-
อุทาหรณ์เตือนใจ ใครหลาย ๆ คนระวังสำเนาบัตรประชาชนที่ใช้สมัครงานหรือติดต่อธุรกรรมต่าง ๆ หลุด อาจตกเป็นหนี้บัตรเครดิตนับแสนแบบไม่รู้ตัว ชาวเน็ตแนะวิธีป้องกันมิจฉาชีพนำเอกสารไปใช้ประโยชน์ต่อ
วันที่ 28 กันยายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนนี้ชาวโซเชียลกำลังให้ความสนใจกระทู้ "เตือนภัย เป็นหนี้บัตรเครดิตกว่า 150,000+ โดยไม่รู้ตัว" ของ คุณ Ordinary diary สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้โพสต์เล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริง หลังตกเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคาร 2 แห่ง ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่เคยสมัคร
โดยระบุว่า เมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2558 เจ้าของกระทู้ได้รับจดหมายทวงหนี้บัตรเครดิตจากธนาคาร A ที่ถูกส่งไปยังบ้านตามที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน ทั้งนี้ ใบแจ้งหนี้ระบุว่า ตนเป็นหนี้จำนวน 76,000 กว่าบาท ซึ่งตอนที่น้องสาวถ่ายรูปแล้วส่งมาให้ดูก็คิดว่า คงถูกมิจฉาชีพส่งข้อมูลปลอมมาหลอก แต่เมื่อลองโทรไปสอบถามกับธนาคาร A จึงทราบว่า เป็นหนี้บัตรเครดิตจริง ๆ ทั้งที่ไม่เคยสมัคร
ต่อมา ตนได้เดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ของธนาคาร A เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทำให้ทราบว่า บัตรเครดิตถูกเปิดใช้ที่ธนาคาร A สาขารังสิต ช่วงเดือนมีนาคม 2558 มีวงเงิน 73,000 บาท แต่ใช้เกินวงเดือน ยอดรวมทั้งหมดจึงเป็น 76,000 กว่าบาท และเมื่อเดินทางไปยังธนาคาร A สาขารังสิต เพื่อแจ้งความ เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ชื่อว่า น.ส.Y ก็มาชี้แจงให้ทราบว่า ได้มีฝ่ายบุคคลของ บจก.XXX เอาหลักฐานของพนักงาน (สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา) มายื่นกับธนาคารเพื่อสมัครบัตรเครดิตให้พนักงาน พร้อมทั้งนำสลิปเงินเดือน สเตทเม้นท์และใบเสียภาษีมาประกอบการสมัคร ประกอบกับธนาคารได้โทรไปสอบถามตามเบอร์ของ บจก.XXX ก็ยืนยันว่า พนักงานที่สมัครใช้บัตรเครดิตมีตัวตนจริง จึงอนุมัติบัตรเครดิต
ตนจึงพยายามขอข้อมูลคนที่มาเปิดบัตรเครดิต ปรากฏว่า น.ส.Y ปฏิเสธ เนื่องจากเป็นข้อมูลของลูกค้า แต่ น.ส.Y จะส่งเรื่องไปให้สำนักงานใหญ่ดำเนินการต่อให้ หลังจากนั้นตนก็ได้เช็กกับเครดิตบูโร พบว่า มีคนร้ายแอบใช้บัตรเครดิตของธนาคาร B อีก 2 ใบ วงเงินใบละ 40,000 บาท หลังทราบเรื่องก็รีบเดินทางไปธนาคาร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ก่อนจะไปแจ้งความและนำเอกสารไปติดต่อธนาคารซึ่งเป็นสถานที่เปิดใช้บัตรเครดิตดังกล่าวทันที เรียกว่า กว่าจะเดินเรื่องจนหลุดพ้นหนี้บัตรเครดิตที่ตนเองไม่ได้ก่อ ก็ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนทีเดียว
นอกจากนี้ เจ้าของกระทู้ยังได้โพสต์เล่าการสอบถามเรื่องการทำบัตรเครดิตกับพนักงานของธนาคาร เพิ่มเติมด้วยว่า
1. เราจะป้องกันอย่างไร ไม่ให้คนร้ายไปเปิดบัตรมั่วซั่วอีก?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า ป้องกันไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือ รอว่าจะมีเซอร์ไพรส์จากธนาคารไหน แล้วค่อยตามไปแจ้งเรื่อง
2. เราสามารถฝากเอกสารให้เพื่อนหรือใครมาสมัครบัตรเครดิตแทนเราได้ไหม?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า ได้
3. เจ้าของหลักฐานไม่ต้องเซ็นชื่อต่อหน้าพนักงานเหรอ?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า แล้วแต่กรณีว่า ลูกค้ากับพนักงานมีข้อตกลงกันว่าอย่างไร
4. ถ้าเราทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ล่ะ จะช่วยได้ไหม?
พนักงานของธนาคาร ตอบว่า ไม่ได้ เพราะข้อมูลยังเป็นข้อมูลของเรา
อย่างไรก็ดี คุณ Ordinary diary ยังตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่หลุดไปถึงมือคนร้ายนั้น อาจหลุดไปกับการสมัครงานเมื่อช่วงต้นปี 2557 เนื่องจากแฟนของคุณ Ordinary diary ที่ยื่นใบสมัครที่เดียวกัน ก็ถูกนำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดบัตรเครดิตในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน
ภายหลังที่เรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีบรรดาชาวเน็ตเข้ามาสอบถามว่า ธนาคารต้นเรื่องทั้ง 2 แห่งคือที่ไหนกัน เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่ตรวจเช็กข้อมูลของลูกค้าอย่างละเอียด ก่อนอนุมัติบัตรเครดิต หรือมัวแต่คิดเพิ่มยอดจนไม่สนใจอะไร ขณะที่บางส่วนก็เข้ามาต่อว่า บริษัทรับสมัครงานที่ทางเจ้าของกระทู้คาดว่าอาจเป็นต้นตอที่ทำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหลุดไปอยู่ในมือมิจฉาชีพว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีจรรยาบรรณในการจัดเก็บเอกสารส่วนตัวหรือทำลายเอกสารสำคัญของผู้สมัครงานเลย และบางส่วนก็เข้ามาแนะนำเทคนิคการเซ็นรับรองสําเนาถูกต้องให้ปลอดภัย อาทิ ทุกครั้งหลังจากเซ็นชื่อ และเขียนข้อความรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว เจ้าของเอกสารควรเขียนรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า เอกสารฉบับนั้นใช้สำหรับทำอะไร เป็นต้น
เทคนิคการเซ็นรับรองสําเนาถูกต้องให้ปลอดภัย
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก คุณ Ordinary diary สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม
เทคนิคการเซ็นรับรองสําเนาถูกต้องให้ปลอดภัย
-http://hilight.kapook.com/view/86082-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องยื่นเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือเรื่องของการเซ็นชื่อรับรองในสำเนาเอกสารเหล่านั้น เนื่องจากอาจมีบางท่านเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารอย่างไม่รัดกุม จนส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง หรืออาจเป็นเพราะบางท่านไม่ทราบว่าควรเซ็นสำเนาอย่างไรถึงจะถูกวิธี ดังนั้นวันนี้เราจึงนำข้อมูลมาฝากกันค่ะ
วิธีเซ็นชื่อรับรองสําเนาถูกต้อง
1. การเซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง จะใช้วิธีขีดเส้นคร่อมบนตัวสำเนาในส่วนที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของเอกสารหรือไม่ก็ได้ เนื่องจากการขีดคร่อม และเขียนข้อความกำกับบนสำเนาเอกสารนั้น ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่อาจเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพนำสำเนาเอกสารนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ แต่บางครั้งการขีดคร่อมเอกสารเพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นหลักฐาน หากทำไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้สำเนาเอกสารฉบับนั้น ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หรืออาจกลายเป็นลักษณะของการขีดฆ่าเอกสารทิ้งนั่นเอง
2. ทุกครั้งหลังจากเซ็นชื่อ และเขียนข้อความรับรองสำเนาถูกต้องแล้ว เจ้าของเอกสารควรเขียนรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า เอกสารฉบับนั้นใช้สำหรับทำอะไร เช่น "ใช้เฉพาะการสมัครงานเท่านั้น" หรือ "ใช้สำหรับติดต่อเรื่อง...เท่านั้น"
3. นอกจากเขียนรายละเอียดกำกับการใช้แล้ว เจ้าของเอกสารควรระบุ วัน เดือน ปี ณ วันที่ยื่นเรื่อง ลงบนสำเนาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยกำหนดอายุการใช้สำเนาเหล่านั้นได้
4. ต้องเขียนข้อความทั้งหมดทับลงบนสำเนาส่วนที่เป็นบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงเอกสาร แต่อย่าทับบริเวณสาระสำคัญของสำเนาเอกสาร เช่น ชื่อ-นามสกุล, วันเดือนปีเกิด
สำหรับวิธีการเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าของเอกสาร โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะถูกกลุ่มมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีนำสำเนาเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่มีชื่อของเราไปใช้ได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ การเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่เราติดต่อเพื่อทำธุรกรรม ย่อมปลอดภัยกว่าการเซ็นชื่อรับรองสำเนาเอกสารแล้วส่งทางไปรษณีย์ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เอกสารดังกล่าวอาจตกหล่นสูญหาย หรืออาจถูกมิจฉาชีพนำไปดัดแปลงแก้ไขจนสร้างความเดือดร้อนให้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ถ้าจำเป็นจะต้องยื่นเอกสารสำคัญเพื่อติดต่อธุรกรรมต่าง ๆ ก็อย่าลืมนำวิธีดังกล่าวไปใช้กันนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , เว็บไซต์กองบิน 4