.
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) > สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน
รู้ไว้ไม่เสียเปรียบ .. สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน
-http://www.bot.or.th/Thai/FinancialLiteracy/duty/Pages/duty_right.aspx-
สิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้บริการทางการเงิน
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการเงินที่หลากหลายกับลูกค้าของตน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านั้นอาจมีความซับซ้อน และความเสี่ยง จึงอาจเป็นความสะดวกสบายที่นำภัยมาสู่ผู้บริโภคได้
ด้วยเหตุนี้ การเป็นผู้บริโภคในยุคที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมึความหลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ และการปกป้องสิทธิของตน เสมือนเป็นการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง จะได้ตัดสินใจเลือกใช้บริการทางการเงินได้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินและความต้องการ แถมยังเป็นการป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย
สิทธิในการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน
ผู้ใช้บริการทางการเงินมีสิทธิที่จะได้รับทราบรายละเอียด และเงื่อนไขการให้บริการต่าง ๆ ซึ่งสถาบันการเงินต้องเปิดเผยข้อมูล
ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และการให้บริการต่างๆอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอ ต่อการเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจ และไม่บิดเบือน
ข้อเท็จจริงตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด ดังนี้
เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ไว้ในที่เปิดเผย
สังเกตุเห็นง่าย เช่น สำนักงานใหญ่ สาขาที่ทำการ รวมทั้งในเว็บไซต์ของตนเอง
และของแบงก์ชาติ เพื่อสร้างความโปร่งใส และช่วยให้ลูกค้ามีข้อมูลเปรียบเทียบ
เพื่อประกอบการตัดสินใจ
เปิดเผยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) ที่ผู้ฝากเงินได้รับให้แก่ผู้ฝากเงินทราบด้วย เช่น ในใบโฆษณาเงินฝากประจำที่มีการให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เป็นต้น
เปิดเผยข้อมูลอย่างไร
เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินมีหน้าที่อธิบายลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการต่างๆ ให้ท่านเข้าใจก่อนตัดสินใจ
การโฆษณาและประชาสัมพันธ์ต้องมีความชัดเจนเข้าใจง่าย ให้ข้อมูลครบถ้วน ไม่ก่อให้เกิดการเข้าใจผิด
ไม่โฆษณาเกินจริง และต้องระบุอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและชัดเจน
กรณีขอกู้เงินแล้วไม่ได้รับการอนุมัติเงินกู้ สถาบันการเงินต้องมีหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้เงินกู้ และท่านมีสิทธิในการขอคืนเอกสารประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และต้องได้รับเอกสารคืนภายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ท่านเกิดความเข้าใจ สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ และมีข้อมูลในการปรับปรุงประสิทธิภาพตนเองเพื่อขอสินเชื่อใหม่
สิทธิที่ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในการติดตามทวงถามหนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดแนวนโยบายในการติดตามทวงถามหนี้ของสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับ
เพื่อความเหมาะสม และความเป็นธรรมกับลูกหนี้ดังนี้
ติดตามทวงถามได้เฉพาะภายในเวลาที่กำหนด
- วันจันทร์ – วันศุกร์ ภายในเวลา 08.00 น. – 20.00 น.
- วันหยุดราชการ ภายในเวลา 08.00 น. – 18.00 น.
- ความถี่ในการติดต่อต้องเหมาะสม
ต้องแสดงตัวและแจ้งวัตถุประสงค์ในการติดตามทวงถามหนี้
- กรณีเป็นสถาบันการเงิน ต้องแจ้งชื่อ และวัตถุประสงค์ในการติดต่อให้ลูกหนี้ได้รับทราบอย่างถูกต้องเหมาะสม
- กรณีเป็นผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ (ตัวแทนสถาบันการเงิน) ต้องแสดงเอกสาร
ว่าได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจให้ทำการแทน
ต้องใช้วิธีการเรียกเก็บหนี้ที่เหมาะสม
- เก็บเงินได้จากลูกหนี้เท่านั้น ยกเว้นได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ หรือเป็นสิทธิตามกฏหมาย
- ไม่รบกวนหรือรังควานลูกหนี้โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ไม่ใช้คำพูดที่รุนแรง หรือหยาบคาย ข่มขู่ และคุกคามในลักษณะที่ผิดกฏหมายเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้
- ห้ามปลอมแปลง บิดเบือนข้อมูล เอกสาร หรือแสดงท่าทางอันทำให้ลูกหนี้สำคัญผิดว่าเอกสารเรียกเก็บหนี้
หรือเอกสารที่ใช้ในการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ออกหรือได้รับอนุญาต หรือรับรองจากหน่วยงานของรัฐ หรือ
บริษัทข้อมูลเครดิต
ต้องเก็บรักษาความลับของลูกหนี้ ห้ามเปิดเผยข้อมูลหนี้ของลูกหนี้ให้บุคคลอื่นทราบระหว่างติดต่อทวงถามหนี้ แม้จะเป็นบุคคลในครอบครัว ยกเว้นได้รับความยินยอมจากลูกหนี้
ต้องมีหลักฐานแสดงการรับเงินจากลูกหนี้ที่เหมาะสมและมีผลในทางกฎหมาย
ข้อควรรู้ก่อนเป็นลูกหนี้
1. ก่อนเป็นลูกหนี้ ผู้ประกอบการหรือสถาบันการเงินต้องแจ้งให้ผู้ที่มาขอกู้เงินครั้งแรกทราบในเรื่องต่อไปนี้
- ค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการกู้เงิน เช่น ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าปรับต่างๆ
- รายชื่อตัวแทนที่ทำหน้าที่ในการติดตามทวงถามหนี้
2. ขณะเป็นลูกหนี้
- ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบล่วงหน้าหากมอบหมายให้ผู้อื่นเก็บหนี้แทน
- ต้องจัดส่งเอกสารยืนยันยอดหนี้ให้แก่ลูกหนี้
3. ลูกหนี้สามารถร้องเรียนได้ที่สถาบันการเงิน หรือแบงก์ชาติ หากสถาบันการเงินหรือตัวแทนมีพฤติกรรมในการติดตาม
ทวงถามหนี้ไม่เหมาะสม หรือเข้าข่ายคุกคามลูกหนี้
หมายเหตุ : กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ. ติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมเพื่อเป็นกฏหมายที่ใช้ควบคุมผู้ทวงถามหนี้
ของสินเชื่อทุกประเภท และสร้างความเป็นธรรมต่อลูกหนี้
สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองเรื่องการรักษาความลับของข้อมูล
สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมทั้ง บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ต้องรักษาข้อมูลของลูกค้าเป็นความลับ จะใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าได้เฉพาะวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน หรือเพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น การเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าจะทำได้ต่อเมื่อ
ลูกค้ายินยอมให้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องเซ็นชื่อในหนังสือยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลกับเครดิตบูโร
กฏหมายอนุญาตหรือกำหนดไว้ เช่น การเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าตามคำสั่งศาล พนักงานสอบสวน กระทรวงการคลัง ผู้ตรวจการของแบงก์ชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
เครดิตบูโรคือใคร เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร
เครดิตบูโร จะทำหน้าที่จัดเก็บ รักษา รวบรวม และประมวลผล ข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบัน
การเงิน ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อหรือข้อมูลบ่งชี้ตัวบุคคล เช่น ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน อีกส่วนหนึ่งเป็นประวัติการขอสินเชื่อ และการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งสถาบันการเงินจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลก่อน (อ่านเพิ่มเติม click)
เจ้าของข้อมูลมีสิทธิอะไรบ้าง
สิทธิที่จะรู้ว่าเครดิตบูโรเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวอะไรบ้าง
สิทธิที่การขอตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
สิทธิการได้รับแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด
สิทธิการโต้แย้งและขอแก้ไขหากข้อมูลส่วนตัวที่เก็บไว้ไม่ถูกต้อง
สิทธิการขออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องความถูกต้องของข้อมูลที่ยังหาข้อยุติไม่ได้
สิทธิการขอตรวจสอบข้อมูลโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หากธนาคารปฏิเสธคำขอกู้ และออกเป็นหนังสือแจ้งสาเหตุที่ไม่อนุมัติ เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏในเครดิตบูโรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด
สิทธิในการร้องเรียนเมื่อประสบปัญหาการใช้บริการทางการเงิน
เมื่อประสบกับปัญหาในการใช้บริการทางการเงินสามารถร้องเรียนได้ที่
สถาบันการเงินผู้ให้บริการ ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
เช่น การเบิกเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้วไม่ได้รับเงิน เงินฝากในบัญชีสูญหาย มีผู้อื่นนำบัตรเครดิต
ไปซื้อสินค้าและบริการ ทั้งนี้ สถาบันการเงินต้องแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม
รวมทั้งแจ้งขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป หากต้องใช้เวลาในการดำเนินการ
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ท่านไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับการชี้แจงจากสถาบันการเงิน รวมทั้งกรณีที่ท่านต้องการสอบถาม หรือขอข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่แบงก์ชาติดูแล เช่น ธนบัตร พันธบัตร ตราสารหนี้ และการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน หรือสอบถามข้อมูลทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและสอบถามข้อมูลสำหรับบริการประชาชน ดังนี้
โทรสายด่วน 1213 (บริการตอบรับอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง)
เว็บไซต์ แบงก์ชาติ
www.bot.or.th และเลือก ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ส่ง e-mail ถึง ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) : fcc@bot.or.th
ส่งโทรสาร (FAX) หมายเลข 0-2283-6151 หรือ
ติดต่อขอพบเจ้าหน้าที่เพื่อรับคำปรึกษา ตามที่อยู่ด้านล่างนี้
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
อาคาร 3 ชั้น 5
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่
ถนนสามเสน แขวงบางขุนพรหม
เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
ส่วนคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
68/3 ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50300
ส่วนคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
393 ถนนศรีจันทร์ ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
ส่วนคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
472 ถนนเพชรเกษม อำเภอหาดหใญ่
จังหวัดสงขลา 90110
ขั้นตอนการรับเรื่องร้องเรียน หรือสอบถามข้อมูลทางการเงิน
หน้าที่ของผู้บริโภค
แม้ว่าสถาบันการเงินจะเล็งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างเป็นระบบ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์
ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคมีหน้าที่ทำความเข้าใจเอกสาร และเงื่อนไขการ
ให้บริการต่าง ๆ อย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจสมัครเป็นผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกหลอก หรือเอารัดเอาเปรียบ
และเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเลือกใช้บริการทางการเงินเหล่านั้น
ดูแลตัวเองอย่างไรให้พ้นภัยการเงิน
ศึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของบริการทางการเงิน เพื่อป้องกันการถูกหลอก หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ และเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของตนในการเปรียบเทียบผลตอบแทนในการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงิน
อ่าน ศึกษา และทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินและเงื่อนไขการให้บริการ
อย่างรอบคอบก่อนซื้อหรือตัดสินใจใช้บริการ
วางแผนการเงินของตน เพื่อจะได้ทราบสถานะการเงิน และสามารถเลือกผลิตภัณฑ์
ทางการเงินได้สอดคล้องกับรายได้ของตนเอง
อ่าน ทำความเข้าใจ และตรวจสอบสัญญาทุกครั้งก่อนลงนาม ซึ่งในเบื้องต้นต้องใส่ใจประเด็นสำคัญ ดังนี้
จำนวนเงิน ที่ระบุในสัญญาเป็นจำนวนเงินที่ตกลงไว้หรือไม่ ตัวเลขตรงกับตัวหนังสือหรือไม่
ระยะเวลา ทั้งวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดสัญญา
ระบุรายละเอียด เช่น รายชื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ ระยะเวลาการคิดดอกเบี้ย (ถ้ามี)
ไว้ในสัญญาอย่างครบถ้วนถูกต้อง
จำนวนเงินที่ต้องชำระต่องวด และจำนวนงวดที่ต้องชำระ
ค่าปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้
ค่าธรรมเนียมต่างๆ ในส่วนที่ต้องรับผิดชอบ
เงื่อนไขอื่นๆ ที่ระบุไว้ในสัญญา
ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ได้รับจากสถาบันการเงิน เช่น ใบแจ้งยอดการใช้เงิน ใบแจ้งข้อมูลเครดิต ใบเสร็จ
รับเงิน เป็นต้น หากข้อมูลในเอกสารไม่ถูกต้อง รีบติดต่อกับสถาบันการเงินผู้ออกเอกสารทันที และติดตามให้สถาบันการเงินแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ควรเก็บเอกสารหลักฐาน หรือเอกสารการติดต่อให้มีการแก้ไขข้อมูลไว้อย่างน้อย 1 รอบบัญชี หรือจนกว่าจะได้รับหลักฐานยืนยันว่าข้อมูลได้แก้ไขถูกต้องแล้ว
ต้องระมัดระวังก่อนลงนามในเอกสารเพิ่มเติม เพื่อสอบถามความยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลภายนอก เช่น “สามารถเปิดเผยข้อมูลให้แก่บริษัทในเครือได้” หรือ “ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อให้บริการอื่นๆ ที่ลูกค้าสนใจได้” หากลงนามเท่ากับเราได้ให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลของเราแก่บุคคลอื่นได้
ทำตัวอย่างไรเมื่อเป็นลูกหนี้
มีหน้าที่ต้องชำระหนี้อาจเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้กับเจ้าหนี้ตามจำนวนที่ได้ไปขอกู้ยืม
หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาได้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย หรือค่าเสียหายตามที่ระบุไว้ในสัญญาภายใต้กรอบของกฏหมาย
หากท่านไม่สามารถชำระหนี้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา ท่านสามารถติดต่อเจ้าหนี้เพื่อหาทางแก้ปัญหา
ข้อสำคัญอย่าเบี้ยวหรือหนีหนี้เพราะท่านจะไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
ก่อนผูกพันตนเองในฐานะลูกหนี้ควรทำความเข้าใจ ประเมินความสามารถในการชำระคืนหนี้
และตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาในสัญญาก่อนลงนามทุกครั้ง
ทำอย่างไรเมื่อเป็นผู้ค้ำประกัน
ผู้ค้ำประกัน คือ บุคคลที่สามที่เข้ามาผูกพันตนกับเจ้าหนี้ โดยยินยอมชำระหนี้แทนลูกหนี้ (ผู้กู้เงิน) หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้
ซึ่งการค้ำประกันจะจำกัดวงเงินค้ำประกันหรือไม่ก็ได้
กรณีที่จำกัดวงเงินค้ำประกัน : มีการระบุจำนวนเงินที่รับชำระหนี้แทนลูกหนี้ไว้ในรายละเอียดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
กรณีไม่จำกัดวงเงินค้ำประกัน : ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบหนี้สิน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากภาระหนี้ทั้งหมด รวมถึง
ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าทนายความ ค่าดำเนินการติดตามทวงถามหนี้ ค่าธรรมเนียมศาล
พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 กำหนดให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติ โดยในการทำสัญญาค้ำประกันด้วยบุคคล
ให้มีการระบุเงินต้นในสัญญา และไม่ให้มีการทำข้อตกลงค้ำประกันแบบไม่จำกัดจำนวน
http://www.bot.or.th/Thai/FinancialLiteracy/duty/Pages/duty_right.aspx.