ไต่ระดับสู่ความมั่งคั่ง
-http://www.dailynews.co.th/article/55/220119-
-http://www.dailynews.co.th/article/55/221728-
-http://www.dailynews.co.th/article/55/223187-
ไต่ระดับสู่ความมั่งคั่ง ตอนที่ 1
วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2556 เวลา 00:00 น.
ใคร ๆ ก็อยากจะรวย อยากมั่งคั่ง มั่งมี และต้องการอิสรภาพทางการเงินโดยเร็วที่สุด แต่คนส่วนใหญ่มักจะท้อและถอยไปซะก่อน เพราะพยายามเก็บออมก็แล้ว มีความรู้มากมาย และลงทุนด้วยวิธีต่าง ๆ ก็แล้ว แต่ทำไมยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ฝันเสียที เฮ้อ...
เข็มทิศลงทุน 3 ตอนต่อไปนี้ ขอบอกเล่าสไตล์การลงทุนในหลากหลายประเภท จะได้รู้ว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภทใด และถ้าต้องการไปถึงเป้าหมาย จะต้องทำอย่างไร?
John R. Burley กูรูเรื่องลงทุนระดับโลกที่ผันตัวเองจากนักลงทุนผู้มั่งคั่ง มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านการวางแผนการเงินให้กับคนทั่วโลก ด้วยความเชื่อฝังใจว่า “ใคร ๆ ก็รวยและมีชีวิตที่ดีได้” John ได้แบ่งนักลงทุนไว้ 7 ระดับ ตั้งแต่ 0–6 ให้เป็นบันไดสำหรับไต่ระดับสู่ความมั่งคั่ง ดังนี้
นักลงทุนระดับ 0 คือ “ช่างซื้อ” (Non-Existent)
คนประเภทนี้ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินลงทุน และไม่มีความรู้ด้านการเงิน มักอ้างว่าที่มีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้เพราะมีรายได้น้อยเกินไป แต่ปัญหาแท้จริงที่เจ้าตัวอาจไม่รู้หรือไม่คิดจะรู้คือ การใช้จ่ายเงินเกินตัวจนไม่เหลือเก็บ สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยหยุดคนช่างซื้อ คือต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายทันที วิธีที่ช่วยให้เริ่มออมได้ทั้งง่ายและเร็ว คือ “ออมก่อนใช้” เมื่อมีรายได้เข้ามาให้แบ่งเงิน 20% ไว้ก่อนเพื่อออมและลงทุน ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้คนช่างซื้อ มีเงินให้ซื้อน้อยลง แต่มีเงินเก็บออมเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่ระยะเวลาการออมที่ยาวนาน ก็ช่วยทำให้เกิดพลังของดอกเบี้ยทบต้น สร้างผลตอบแทนให้งอกเงยได้
อีกวิธีก่อนซื้อของ แนะนำให้ใช้คาถา 4 พยางค์ คือ “ขอคิดดูก่อน” ช่วยถ่วงเวลาการซื้อให้ช้าลง ช่วยให้มั่นใจว่าการซื้อครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่อารมณ์อยากได้ชั่ววูบ ลองใช้ 4 พยางค์ตรวจสอบตัวเองดูสัก 5 วัน 7 วัน เป็นไปได้ว่าความอยากได้ อยากซื้อจะลดน้อยลง แต่ได้เงินเก็บมากขึ้น
นักลงทุนระดับ 1 คือ “ช่างกู้” (Borrower)
คนประเภทนี้มีสถานะทางการเงินที่น่าเป็นห่วงกว่าประเภทแรกเสียอีก เพราะนอก จากจะใช้เงินที่หาได้ไปจนหมด ยังกู้เพิ่ม เป็น การแก้ปัญหาแบบผิด ๆ ด้วยการสมัครบัตรเครดิตหลายใบเพื่อหวังเอาเงินบัตรใหม่หมุนจ่ายหนี้บัตรเดิม บางคนขอสินเชื่อบุคคลมาใช้หนี้ หรือหนักเข้าถึงขั้นกู้หนี้นอกระบบเพื่อมา กลบหนี้เก่า หมุนเงินไปมาจนถึงจุดที่วงเงินเต็ม ไม่สามารถกู้เพิ่มได้อีกแล้ว หนี้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ฐานะการเงินล้มเหลว ชีวิตนี้ ก็กลายเป็นชีวิตหนี้ในทันใด เสี่ยงที่จะล้มละลายสุด ๆ ซึ่งคนประเภทนี้อาจไม่ใช่คนที่มีรายได้น้อย บางคนรายได้สูงแต่หาเงินไม่พอใช้จ่าย ก็เข้าข่ายนักลงทุนระดับ 1 ได้เช่นกัน ทางออกที่ได้ผลที่สุด คือ หยุดสร้างหนี้เพิ่ม แล้วจัดการเคลียร์หนี้สินอย่างมีวินัย ควรจัดการหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง ๆ ให้หมดก่อน และแบ่งเงินบางส่วนเพื่อการออมด้วย
นักลงทุนระดับ 2 คือ “ช่างเก็บ” (Saver)
คนประเภทนี้มีการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอ แต่เป้าหมายส่วนใหญ่ก็เพื่อใช้จ่ายมากกว่านำไปลงทุน เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ หรือเครื่องเสียงชุดใหญ่ โดยเน้นฝากเงินในธนาคาร หรือซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เพราะคิดว่ามีความเสี่ยงต่ำ เงินต้นไม่หาย แต่ลืมคิดว่าสำหรับผลตอบแทนจากการฝากธนาคารนั้น อาจไม่เพียงพอที่จะไปสู้กับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ค่าของเงินต้องลดลงอย่างแน่นอน ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ เริ่มจากเปลี่ยนมุมคิดจากแค่การเก็บออมหรือการฝากเงินกับธนาคาร ไปมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ ถ้าไม่กล้าเสี่ยงหรือกลัวว่าเงินต้นจะหดหาย เริ่มจากเปลี่ยนจากการฝากเงินแบบสะสมทรัพย์ เป็นการฝากประจำ หรือจะซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ภาคเอกชน ผลตอบแทนมากกว่าการฝากออมทรัพย์ในระดับความเสี่ยงต่ำ
ถึงตรงนี้ ลองสำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าเป็นนักลงทุนระดับไหน หรือคุณเป็นช่างอะไร หากพบว่าตัวเองอยู่ใน 3 ระดับแรกนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนช่างซื้อ คนช่างกู้ หรือคนช่างเก็บ ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย เป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นวิธีง่ายที่สุดที่จะไปถึงเป้าหมายอิสรภาพทางการเงิน แล้วติดตามเข็มทิศลงทุนกับอีก 4 ระดับที่เหลือในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป.
ไต่ระดับสู่ความมั่งคั่ง ตอนที่ 2
วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 เวลา 00:00 น.
ตอนที่ 1 ของบทความนี้เราได้กล่าวว่านักลงทุนมีอยู่ด้วยกัน 7 ระดับ และเล่าไปแล้ว 3 ระดับ โดย ระดับ 0 เรียกว่า “ช่างซื้อ” คือซื้อจนไม่มีเงินเหลือ
ระดับ 1 เรียกว่า “ช่างกู้” คือนอกจากใช้เงินจนหมด ก็ยังไปกู้มาใช้อีก และ
ระดับ 2 เรียกว่า “ช่างเก็บ” แต่ไม่ได้เก็บออม เขาเก็บไว้ซื้อของชิ้นใหญ่ที่ต้องการ
อ่านแล้วพอจะรู้สึกว่าระดับไหนใกล้เคียงพฤติกรรมเราบ้างคะ ถ้ายังไม่มี ลองดูค่ะว่าอีก 4 ระดับที่เหลือ น่าจะเป็นเราหรือเปล่า
ระดับ 3 คือ “ช่างคิด (แต่ไม่ทำ)” (Passive Investor) นักลงทุนระดับนี้เริ่มเห็นความสำคัญของการลงทุน แต่ไม่มีความรู้ด้านการเงิน จึงไม่มั่นใจ ไม่กล้าลงทุนอะไรมาก มักลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลงทุนในกองทุนรวมอื่น ๆ ที่มีความผันผวนต่ำ ซึ่ง John แบ่งย่อยนักลงทุนประเภทนี้ไปอีก 3 กลุ่มย่อย ได้แก่
1. ลงทุนก็ได้ แต่ขอทำแบบแอบ ๆ (Gone into a shell Passive Investor) นักลงทุนประเภทนี้คิดเสมอว่า ตนเองไม่มีวันเข้าใจเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ หรือการลงทุน มักมีคำแก้ตัวเพื่อเลี่ยงการจัดการเงินของตัวเอง เช่น “ไม่เก่งเรื่องตัวเลข การลงทุนมันยุ่งยาก งานยุ่งมากไม่มีเวลาคิดเรื่องลงทุน หรือให้กองทุนเขาจัดการเถอะ” เหล่านี้มักเป็นคำพูดตอบโต้ตัวเองในใจเพื่อทำให้ตนเองสบายใจ
ถ้าท่านคิดว่าลักษณะนี้คือท่าน เราอยากแนะนำให้ลอง “คิดใหม่ ทำเลย”
คิดใหม่...คืออยากให้เลิกคิดว่า “เราคงทำไม่ได้ เราคงไม่เข้าใจ” เลิกแอบปลื้มชื่นชมความสำเร็จของคนอื่น และหันมาลอง “ทำเลย” กันดูสักครั้ง
“ทำเลย” คือลองติดตามสถานการณ์ลงทุนต่อเนื่องสม่ำเสมอ ลองทำความเข้าใจว่าการลงทุนมีกี่ประเภท กี่แบบ ธุรกิจไหนที่น่าลงทุน เหตุผลคือเพื่ออะไร เมื่อมั่นใจว่าธุรกิจไหนน่าจะไปได้ดีต่อเนื่องยาวนาน ทีนี้ก็เริ่มเลือกกิจการที่เรา “เข้าใจและมั่นใจ” ลงมือลงทุนเองเลยค่ะ เมื่อผลตอบแทนลงทุนผันผวนก็ค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ค่อยทำค่อยไป เราก็จะเริ่มเข้าใจ ทีนี้ก็ค่อย ๆ ขยายไปกิจการอื่น ธุรกิจอื่น สุดท้ายก็จะเป็นคนเก่งเหมือนคนอื่นในที่สุด
2. เป็นไปไม่ได้...แน่ ๆ (It can’t be done Passive Investor) นักลงทุนประเภทนี้เชื่อฝังจิต ฝังใจว่า “เราคงทำไม่ได้” หลายคนรู้ว่า การบริหารเงินที่ดีไม่ใช่เก็บเงินฝากไว้กับธนาคาร การลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายเท่านั้นเป็นการกระจายความเสี่ยงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเงินออม แต่ก็เลือกที่จะ “ไม่ทำอะไร”
ที่หนักไปกว่านั้น คือเชื่อไปว่าที่คนอื่นประสบความสำเร็จเป็นเพราะ “ดวงดี” “โชคดี” และ “เก่งกว่า” ถ้าท่านเข้าข่ายลักษณะนี้ ลองเปลี่ยนมุมคิด จากที่ว่า “ไม่มีทางทำได้” ให้คิดบวกว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”
ทุกอย่างเป็นไปได้แน่ แค่เริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องรูปแบบลงทุนให้เข้าใจ ว่าการลง ทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงที่มาคู่กับผลตอบแทนเสมอ ไม่อยากเสี่ยงสูงต้องยอมรับผลตอบแทนต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ แต่ถ้ากล้าเสี่ยงก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง เหมาะจะลงทุนในหุ้น เข้าใจเรื่องการลงทุนแล้ว หันมาเข้าใจตัวท่านเองด้วยว่าเป็นคนที่ยอมรับความเสี่ยงในการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เลือกลงทุนอย่างเข้าใจ ก็จะเข้าใกล้ความสำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งโชคชะตา
3. แมงเม่า (Victim Passive Investor) นักลงทุนประเภทนี้ส่วนใหญ่ฉลาดดี แต่ไม่มี “หลักการ” ในการลงทุน ชอบซื้อหุ้นตอนราคากำลังขึ้น แล้วมักตกใจขายทิ้งทันทีเมื่อหุ้นอยู่ในขาลง หวังพึ่งพาคนอื่น หรือมองหาสูตรสำเร็จที่เร่งความรวยโดยลืมนึกถึงความสามารถที่มีอยู่
หากไม่อยากเป็นแมงเม่า แล้วเปลี่ยนสถานะเป็นนกอินทรีที่มองกว้างและบินไกล ให้ลงทุนอย่างคนรู้ลึกรู้จริง มีความอดทน ไม่หวั่นไหวตามอารมณ์ของตลาดไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง เลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีไว้ก่อน ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกล
เริ่มสำรวจตัวเองว่าตอนนี้อยู่ในระดับไหน แล้วพาตัวเองสู่ระดับที่สูงขึ้นโดยปรับเปลี่ยนมุมมองความคิด และเสริมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้มากขึ้น ทำเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นไปได้แน่นอน
สัปดาห์หน้าเตรียมตัวไปไต่ระดับบันไดสามขั้นที่เหลือ เพื่อประสบความสำเร็จแบบนักลงทุนมืออาชีพกัน.
ไต่ระดับสู่ความมั่งคั่ง ตอนที่ 3
วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2556 เวลา 00:00 น.
เข็มทิศลงทุน พาคุณไต่ระดับสู่ความมั่งคั่งมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว
ทบทวนกันสักนิดว่าคุณเป็นนักลงทุนระดับไหน ได้แก่ ระดับ 0 ช่างซื้อ ระดับ 1 ช่างกู้ ระดับ 2 ช่างเก็บ และ ระดับ 3 ช่างคิด (แต่ไม่ทำ)
อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่ใช่หรือใกล้เคียง 4 ระดับที่เล่าไปแล้ว ก็ลองดู 3 ระดับที่จะพูดถึงในวันนี้...
ระดับสี่ คือ “ช่างทำ” (Automatic Investor) นักลงทุนที่ยืนในระดับนี้ได้อย่างมั่นคง เรียกได้ว่าเข้าสู่จุดเริ่มต้นของความมั่งคั่งแล้ว เขาเข้าใจว่าการลงทุนเป็นสิ่งจำ เป็น จึงสะสมความรู้แล้วลงทุนด้วยตัวเอง หากไม่รู้จริงในสิ่งใด จะไม่ลงทุนในสิ่งนั้น ไม่ชอบเก็งกำไร ชอบวางแผนการลงทุนระยะยาวไว้อย่างชัดเจน และลงทุนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
นักลงทุนระดับสี่ บริหารเงินออมของตัวเองง่าย ๆ 4 ข้อ คือ
-เก็บก่อนใช้ คือทันทีที่มีเงินเข้าบัญชี ไม่ว่าจะได้รายได้จากงานประจำ เงินโบนัส หรือเงินค่าจ้างอื่น ๆ ก็แบ่งเงินส่วนหนึ่งไปเพื่อนำไปลงทุนตามแผนที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอ และแบ่งอีกส่วนหนึ่งสักประมาณ 20 – 30% เป็นเงินเก็บ ที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่าย นอกจากนั้น จะมองหาช่องทางการลงทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษี เช่น ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น
-ให้เงินทำงาน โดยต้องเก็บเงินให้เป็นอัตโนมัติ ซึ่งเป็นรูปแบบของการเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เกิดจากดอกเบี้ยแล้วไม่ได้นำออกมาใช้ จะทบกลับเข้าไปกลายเป็นเงินต้นก้อนใหม่ที่ใหญ่ขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อมี “ดอกเบี้ย” และ “เวลา” เงินเก็บก็จะทำงานเกิดดอกออกผล ต่อยอดตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย
-ลงทุนง่ายเข้าไว้ ไม่ต้องสนใจวิธีการลงทุนซับซ้อนที่มืออาชีพใช้กัน แต่จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อหุ้นหรือกองทุนเป็นประจำทุกเดือน หรือเลือกหุ้นพื้นฐานดีแล้วลงทุนระยะยาว หรือซื้อกองทุนที่มีการบริหารงานที่ดี มีโอกาสทำผลตอบแทนได้มากกว่า 10%
-ไม่ก่อหนี้ เพราะเมื่อไหร่ที่เป็นหนี้ แล้ว จะทำให้ความสามารถในการบริหารเงินออมจะลดลงทันที แต่หากเผลอไปก่อหนี้แล้ว ต้องรีบกำจัดหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดก่อน เป็นไปได้ให้หาเงินก้อนใหญ่มาโปะเงินต้นให้มากและเร็วที่สุด
ระดับที่ห้า คือ “ช่างก้าว” (Active Investor) นักลงทุนในระดับห้า จะมีความเข้าใจเรื่องเครื่องมือการลงทุนที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น ยึดหลักการและวินัยในการลงทุนอย่างเคร่งครัด พยายามสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากที่สุด
ขณะเดียวกันก็สามารถป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี นักลงทุนระดับห้า ไม่ “ทำงานเพื่อเงิน” แต่ “ใช้เงินทำงาน” อย่างเต็มที่ รวมถึงเลือกใช้เครื่องมือการลงทุนที่เข้าใจ ลงเงินต้นให้มาก หาผลตอบแทนได้สูง และให้พลังดอกเบี้ยทบต้นทำงานสร้างเงินอย่างมีวินัย
ระดับที่หก คือ “ช่างก่อ” (Capitalist) นักลงทุนระดับสุดท้ายนี้ ลงทุนโดยไม่ได้มุ่งหวังความร่ำรวยมั่งคั่งใส่ตัว แต่จะใช้ความสามารถในการลงทุนของตัวเองต่อยอดความเจริญสู่สังคม ยิ่งหาเงินได้มาก ยิ่งให้สังคม
มาก ต้นแบบของนักลงทุนระดับนี้เช่น Bill Gates ผู้คิดค้นซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วโลก เมื่อเขาร่ำรวยขึ้นก็ก่อตั้ง Bill & Melinda Gates foundation เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนทั้งในสหรัฐ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก โดยให้ทุนวิจัยเพื่อคิดค้นยารักษาโรคเอดส์ โปลิโอ และวัณโรค มุ่งแก้ปัญหาความยากจน และขยายโอกาสด้านการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส นับว่าการลงทุนของเขาสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนอื่นได้
John R. Burley เจ้าของ “7 ระดับสู่ความมั่งคั่ง” บอกไว้ว่า หากต้องการไปให้ถึงอิสรภาพทางการเงิน จงพัฒนาตัวเองให้เป็นนักลงทุนระดับที่สี่ให้ได้ เริ่มตั้งแต่กำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้ สร้างทัศนคติที่เป็นบวก ศึกษาและติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างจริงจัง รวมถึงอดทนในการรอเก็บเกี่ยวผลตอบแทนดี ๆ
ตอกย้ำกับตัวเองบ่อย ๆ “ใคร ๆ ก็รวย และมีชีวิตที่ดีได้” John R. Burley รวยได้ คุณก็รวยได้...