สมาคมฯ เดินหน้ากวาดล้างแก๊งทองปลอม เตรียมชง ปปง. ยึดทรัพย์
-http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=1&id=73-
หลังจากที่เกิดปัญหากลุ่มมิจฉาชีพได้นำทองปลอมไปหลอกขายตามร้านค้าทองต่างๆทำให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจการค้าทองคำของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการและผู้ผลิตซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมค้าทองคำได้เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและพยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องแต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
จนกระทั่งได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาทองปลอม พร้อมระดมเงินจากร้านผู้ผลิต ในการจัดตั้ง “กองทุนแก้ไขปัญหาทองปลอม” เพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการเข้าจับกุมทลายแหล่งผลิตทองปลอม โดยสมาคมค้าทองคำ ร่วมกับตำรวจนครบาล เข้าจับกุมโรงงานผลิตทองปลอม ภายในทาวน์เฮ้าส์เลขที่ 69/16 ซอยจรัญวิลล่า 13 แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ ที่ดัดแปลงเป็นโรงงานทำทองรูปพรรณ มีโต๊ะสำหรับประกอบทอง 9 ตัว อุปกรณ์หลอมทอง และตราสัญลักษณ์ร้านทองในสมาคมค้าทองคำที่ถูกดัดแปลงขึ้นมา โดยผู้ต้องหารับสารภาพว่าใช้ทองคำแท้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์หุ้มเงิน ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่รู้ และนำไปฝากขายตามร้านขายทอง ย่านบางลำพู ประชาอุทิศ สะพานควาย และบางกรวย หรือขายฝากตามโรงรับจำนำ เนื่องจากไม่เผาไฟเพื่อตรวจสอบทอง ทำให้ยากต่อการถูกจับกุม ทั้งนี้ ตำรวจเชื่อว่าผู้ต้องหาทำเป็นขบวนการ สำหรับร้านทองที่เคยถูกผู้ต้องหากลุ่มนี้หลอก สามารถแจ้งความได้ที่ สน.บางเสาธง
จากการจับกุมดังกล่าว ทำให้ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดทองปลอมลดน้อยลง แต่ทางสมาคมฯได้ดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทลายแหล่งผลิตหรือการดำเนินการกับผู้ที่นำทองปลอมมาจำหน่ายให้กับร้านค้า ซึ่งล่าสุดได้มีการจับกุมและดำเนินคดีหลายราย โดยนายสมศักดิ์ ตัณฑชน กรรมการสมาคมค้าทองคำ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการแก้ไขปัญหาทองปลอม เปิดเผยว่า ได้มีการจับกุมแก๊งทองปลอมอีก 3 จุด คือที่ อ.ฝาง จ.ลำพูน ที่ จ.เชียงใหม่ และที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งทางสมาคมฯได้ส่งทนายขึ้นไปดำเนินการอย่างถึงที่สุด ซึ่งทั้ง 3 รายส่วนใหญ่พยายามแสดงตัวว่าเป็นชาวบ้านแต่เท่าที่ทราบแก๊งที่ อ.ฝาง น่าจะเป็นแก๊งใหญ่ ส่วนที่ จ.ลำพูน ก็เคยโดนดำเนินคดีมาแล้วหนึ่งครั้งก่อนที่จะมาถูกจับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
การดำเนินงานของสมาคมฯจากนี้ไป จะเริ่มประสานงานต่ออย่างจริงจัง โดยจะไปเข้าพบกับทางตำรวจเพื่อดูหน่วยงานที่จะเข้ามาประสานงานเรื่องของการกวาดล้างจับกุม จากนั้นจะเข้าไปพูดคุยกับสภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องของทนายที่จะเข้ามาฟ้องร้องคดี เนื่องจากในบางคดีอยู่ในพื้นที่ห่างไกล กว่าที่ทนายจากส่วนกลางจะไปถึงก็อาจจะไม่ทันการณ์ จึงอาจจะต้องใช้ทนายในพื้นที่เข้าดำเนินการ
นายสมศักดิ์ได้กล่าวถึงปัญหาในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นว่า ประการแรกคือ ผู้ผลิตไม่ยอมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งสมาคมฯ อยากให้ร้านค้าไปจดทะเบียนไว้ เพราะถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเข้าไปเอาผิดกับกลุ่มมิจฉาชีพ เพราะโทษในการละเมิดเครื่องหมายการค้าสูงมาก และประการที่สอง ร้านค้า ยอมความกัน ไม่พยายามฟ้องร้องให้สำเร็จ เพราะกลัวเสียเวลา แต่ขณะนี้ตำรวจได้ยกให้คดีเกี่ยวกับทองคำเป็นคดีพิเศษ ทางสถานีตำรวจแต่ละที่ก็อำนวยความสะดวก ทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องรอเป็นวัน ๆ
ส่วนการกวาดล้างแหล่งผลิตนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะกลุ่มมิจฉาชีพพยายามเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เมื่อจับกุมได้ก็จะไม่มีการซัดทอดไปถึงบุคคลอื่น พยายามที่จะให้คดียุติโดยเร็ว ทำให้ยากต่อการขยายผล
สำหรับเทคนิคของกลุ่มมิจฉาชีพที่นำมาใช้ นอกเหนือจากเรื่องของการยัดไส้เงิน ซึ่งเราสามารถตรวจเช็กได้ตามขั้นตอนต่าง ๆ แล้ว อีกเทคนิคที่นิยมกันก็คือ เอาของจริงมาพยายามจะขายหรือขายฝาก เมื่อร้านทองตรวจเช็กเสร็จก็จะขอราคาสูง แต่ไม่สามารถทำได้จึงขอทองคืน จากนั้นก็พยายามหาเรื่องพูดคุยเพื่อเปลี่ยนเป็นของปลอม ก่อนที่จะเจรจาเรื่องราคาอีกรอบและตกลงซื้อขาย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีสมาธิตลอดเวลา เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจะสังเกตตลอด หากร้านค้าเริ่มคล้อยตามก็จะลงมือทันที
“การแก้ปัญหา ร้านค้าจะต้องยอมเสียสละเวลาในการประสานกับสมาคมฯเพื่อส่งทนายเข้าไปดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้กลุ่มมิจฉาชีพเกิดความหวาดกลัว และตัดวงจรในส่วนนี้ไป ซึ่งทางสมาคมฯก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องของการป้องกัน การรวมตัวของผู้ประกอบการในพื้นที่ในการตั้งเป็นชมรมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะได้ช่วยกันระมัดระวังและมีการแจ้งข่าวสารกันหากเกิดปัญหาเรื่องของทองปลอมระบาดในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งสมาคมฯต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้หมดสิ้น”
ด้านนายสมบูรณ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์ กรรมการสมาคมฯ หนึ่งในคณะอนุกรรมการทองปลอม กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของทองปลอมมีมานานแล้ว และกลุ่มมิจฉาชีพก็พัฒนารูปแบบการหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงทองราคาสูง กลุ่มมิจฉาชีพก็จะออกปฏิบัติการมากขึ้น โดยในอดีตอาจจะทำแค่เพียงไปซื้อสร้อยเงินมาชุบทองขาย ตอนหลังมีทองโปร่งยัดไส้ ซึ่งรูปแบบการปลอมแปลงก็จะละเอียดมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อจับได้ก็ไม่สามารถสาวถึงตัวผู้อยู่เบื้องหลังได้ แต่คดีล่าสุดต้องขอชื่นชมความสามารถของตำรวจที่ติดตามคดีขยายผลจากคดีเล็กมาเป็นคดีใหญ่
อย่างไรก็ตาม มีการหลอกลวงอีกรูปแบบหนึ่งที่อยากให้ร้านทองระมัดระวัง ก็คือการทำทองเปอร์เซ็นต์ต่ำให้สีดูสวย เพราะส่วนมากร้านทองดูหรือว่าไม่มีเงินยัดไส้ภายในก็รับจำนำ แต่ว่าแนะนำให้ฝนกับหินดู ถ้าทองเปอร์เซ็นต์ต่ำลงมันก็จะสีหม่น ๆ ต้องดูที่หิน บางทีเห็นสภาพดี ๆ นึกว่าทอง อย่าไปดูยี่ห้อ แต่อยากให้ดูปฏิกิริยาของคนร้ายด้วย เพราะหากเรารู้จักลูกค้าของเราดี ความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลง
“กลุ่มมิจฉาชีพได้พัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราในฐานะ ที่ดูแลกลุ่มผู้ประกอบการ ก็ต้องหาวิธีการที่จะดำเนินการเมื่อกลุ่มมิจฉาชีพเห็นว่าสมาคมฯ มีการจัดตั้งกองทุน มีทีมงานที่ทำคดีกับคนร้ายก็อาจจะหยุดการดำเนินงาน หรืออาจจะเพลาการทำงานลงไป ที่สำคัญ ทางสมาคมฯกำลังดำเนินการขอให้คดีการปลอมเครื่องหมายการค้า เป็นความผิดที่ต้องถูกยึดทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับทางเลขาฯ ปปง. แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนทางเอกสาร หากการดำเนินงานสำเร็จ เงินที่กลุ่มมิจฉาชีพได้มาจากการหลอกร้านทอง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชนก็มีเหตุอันควรที่จะถูกยึดทรัพย์ได้” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ยังได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของทองปลอมในเมืองไทยว่า มันเหมือนเทคโนโลยีมือถือ แรก ๆ ก็เป็นขั้นพื้นฐาน นำทองชุบซื้อตามตลาดนัดมาขาย ร้านทองก็เริ่มระมัดระวังตัว มีการนำวิธีการต่าง ๆ มาพิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาไฟหรือฝนกับหินทองน้ำกรด จากนั้นก็พัฒนาเรื่อยมา ทองตลาดนัดจะเบาเพราะเป็นทองเหลือง เวลาร้านทองที่มีประสบการณ์จับก็จะรู้ทันที คนร้ายก็เริ่มพัฒนาเอาซิลเวอร์ชุบทองเป็นการพัฒนาไปอีกขั้น แต่ร้านทองก็ตรวจสอบได้ จึงพัฒนามาถึงขั้นสอดไส้เข้าไปข้างในทั้งปล้อง พอใส่ในปล้อง ร้านทองก็รู้และสร้อยคอที่มีปล้องต้องระวัง พอระวังตอนหลังคนร้ายก็ไม่ใส่ที่ปล้องและไปปลอมที่เนื้อทองเลย ยุคสุดท้ายที่ระบาดอยู่ ตัวปล้องนี่โปร่งใส แล้วเห็นว่าไม่มีการยัดไส้แต่เนื้อทองทำเปอร์เซ็นต์ต่ำ
ขณะเดียวกันกลุ่มมิจฉาชีพก็มักจะจ้างผู้หญิง เด็ก คนสูงอายุ มาเป็นหน้าม้า เพราะเมื่อถูกจับกุมก็ขอความเห็นใจ และสังคมก็จะมองว่าเป็นคดีคนรวยรังแกคนจน แต่จริง ๆ พวกนี้คือมีอาชีพรับจ้าง เพราะถ้าเช็กจากประวัติคนร้ายก่อคดีมาหลายจังหวัดเป็นอาชีพเค้าเลย จากนี้ไปสมาคมฯ จะทำป้ายเตือน การรับจ้างเอาทองปลอมมาขายให้มีความผิดรับโทษทางกฎหมาย ทางสมาคมฯจะดำเนินคดีสูงสุด เหมือนไปเปิดบัญชีธนาคาร คนไม่รู้เรื่องก็ตกเป็นเหยื่อ หรือว่าพอรู้เรื่องแต่ก็เตือนให้รู้ว่าเอาจริง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความ จัดหาทนายให้เมื่อคดีเกิดในจังหวัดไกล ๆ จะได้ไม่ต้องบินจากกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นจะขอความร่วมมือให้ขึ้นแบล็กลิสต์ทนายที่วิ่งคดีให้คนร้าย
นายสมบูรณ์ ยังแนะนำร้านค้าเมื่อมีกลุ่มมิจฉาชีพนำทองปลอมมาจำหน่ายว่า ขั้นแรกต้องแจ้งตำรวจให้มาจับคนร้ายให้ได้ก่อนเอาตัวไปสถานีตำรวจลงบันทึกประจำวัน จากนั้นให้โทร.มายังสมาคมฯ สมาคมฯจะประสานงานหาเจ้าของร้าน เพราะในตัวสร้อยจะมีตรายี่ห้อผู้ผลิต ก่อนที่จะประสานตำรวจพื้นที่ และจัดส่งทนายไปดำเนินการ โดยร้านทองที่ถูกหลอกลวง เซ็นยินยอมให้ดำเนินการแทน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลา และสมาคมฯ ก็สามารถตัดตอนขบวนการแก๊งทองปลอมให้หายไปจากวงการ
อย่างไรก็ตามทางสมาคมฯขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับร้านค้าและประชาชนที่มาซื้อขายทองเกี่ยวกับข่าวการแพร่ระบาดของทองปลอมที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้หลายท่านอาจมีความกังวลว่า ถ้าไปซื้อทองแล้วจะเจอทองปลอมหรือไม่ หลายครั้งที่การเสนอข่าวอาจคลาดเคลื่อนจนทำให้เกิดความสับสน ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจร้านทองแบบผิด ๆดังนั้นจึงขออธิบายทำความเข้าใจ ดังนี้
1. ปัญหาทองปลอม คือ การที่คนร้ายผลิตทองปลอมนำมาขายหรือขายฝากกับร้านทองเท่านั้น ไม่ได้ขายให้กับผู้บริโภค
2. เมื่อร้านทองรับซื้อทองเก่าจากลูกค้า ซึ่งอาจเป็นคนร้ายนำทองปลอมมาหลอกขายนั้น ร้านทองจะไม่มีการนำทองเก่าที่รับซื้อจากลูกค้ามาขายซ้ำให้กับลูกค้ารายใหม่ แต่จะนำกลับไปหลอมเพื่อผลิตทองรูปพรรณชิ้นใหม่แทนทั้งหมด
3. ดังนั้น ลูกค้าผู้บริโภคสามารถสบายใจได้เลยว่า หากท่านไปซื้อทองกับร้านทองใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะร้านเล็กหรือร้านใหญ่ กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด เยาวราชหรือรอบนอก ท่านก็จะได้ทองคำแท้อย่างแน่นอน
สำหรับรายชื่อร้านผู้ผลิตทองรูปพรรณ ผู้ร่วมก่อตั้ง“กองทุนแก้ไขปัญหาทองปลอม” (จากการปลอมแปลงของมิจฉาชีพ นำมาหลอกขายร้านทอง) มีดังนี้ "รายชื่อร้านทองผู้ผลิตที่ร่วมกองทุนฯ"
หากร้านทองใด พบเห็นการปลอมแปลงสินค้า หรือนำทองรูปพรรณปลอมยี่ห้อผู้ผลิตฯ ตามรายชื่อ(ผู้ร่วมก่อตั้งกองทุนฯ) ด้านล่างนี้ มาขายกับร้านทองของท่านกรุณาแจ้งข้อมูลมายังสมาคมฯ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2675-8000 ทันที เพื่อร่วมมือร่วมใจกันจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวร้านทองทั่วประเทศ
ที่มา : คอลัมน์ "เรื่องจากปก"
วารสารทองคำ ฉบับที่ 35 โดยสมาคมค้าทองคำ
-www.goldtraders.or.th-
-http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=1&id=73]http://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=1&id=73-